การปฏิบัติการของทุนทางสังคมในการขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวโดยชุมชน
คำสำคัญ:
ทุนทางสังคม, วิสาหกิจชุมชน, การท่องเที่ยวโดยชุมชนบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาลักษณะของการดำรงอยู่ของทุนทางสังคมในชุมชน 2) ศึกษาการทำงานของทุนทางสังคมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว และ 3) หาแนวทางการส่งเสริมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว โดยการใช้ทุนทางสังคมในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วย การวิจัยเชิงเอกสารเพื่อค้นคว้าข้อมูล ทบทวนองค์ความรู้ แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว จากเอกสาร ตำรา งานวิจัย บทความทางวิชาการ รวมถึงสื่อสารสนเทศต่าง ๆ และ การวิจัยภาคสนามเพื่อรวบรวมข้อมูลรายละเอียดและความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน และการเชื่อมโยงเครือข่ายจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ซึ่งเป็นผู้นำวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว 3 แห่ง ได้แก่ 1) วิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง 2) วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น และ 3) วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลบ้านแหลม
ผลจากการศึกษา พบว่า ลักษณะของการดำรงอยู่ของทุนทางสังคมที่ปรากฏในชุมชนทั้ง 3 แห่ง สามารถจำแนกได้เป็น 5 ประเภท คือ ทุนทางกายภาพ ทุนความสัมพันธ์ ทุนทางวัฒนธรรม ทุนมนุษย์ และ ทุนเครือข่ายทางสังคม โดยทุนทางสังคมทั้ง 5 ประเภทมีบทบาทในการขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวใน 2 ลักษณะ คือ 1) การเป็นต้นทุนในการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว และ 2) การสร้างเครือข่ายเพื่อการเติบโตของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว ในการส่งเสริมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ศักยภาพของชุมชนควบคู่ไปกับการพิจารณาบริบทภายนอก รวมถึงความต้องการของคนในชุมชนเพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินงาน จากนั้นจึงดำเนินการหาแนวร่วมในการลงมือปฏิบัติ เพื่อสร้างกลุ่มความร่วมมือภายในชุมชนก่อนจะพัฒนาไปสู่การจัดตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการต่างๆ กับภาครัฐ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชนอื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม สามารถนำความรู้มาใช้ในการพัฒนาและยกระดับความสำเร็จในการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนได้