การศึกษาอัตลักษณ์ประเพณีชักพระ ชักพุ่มของจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
คำสำคัญ:
ชักพระ, ชักพุ่ม, อัตลักษณ์, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ประเพณีชักพระ ชักพุ่ม ในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี การศึกษาใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพโดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงจากตัวแทนชาวบ้านในชุมชนเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จำนวน 14 คน (ผู้สืบสานวัฒนธรรม 5 คน พระสงฆ์ 3 รูป บุคลากรทางการศึกษา 3 คน ผู้นำชุมชน 3 คน) ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การสังเกตทั้งแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม และการสนทนากลุ่มย่อย จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบอัตลักษณ์สำคัญของงานประเพณีชักพระ ชักพุ่มอยู่ 3 ด้าน คือ ด้านพื้นที่ภูมิศาสตร์ ด้านพิธีกรรม และด้านรูปแบบการจัดกิจกรรม อัตลักษณ์ด้านพื้นที่ภูมิศาสตร์มีความโดดเด่นเพราะมีแม่น้ำตาปีไหลผ่านใจกลางเมืองกลายเป็นเส้นทางสัญจรทอดยาวทั้งทางบกและทางน้ำเคียงคู่ไปด้วยกัน อัตลักษณ์ด้านพิธีกรรมพบว่าประเพณีชักพุ่มมีการจัดเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่จัดขึ้นในวันออกพรรษาก่อนจะทำพิธีกรรมชักพระ สำหรับอัตลักษณ์ด้านรูปแบบการจัดกิจกรรม พบว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วนเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้สามารถจัดกิจกรรมทางน้ำได้อย่างหลากหลาย ประเพณีชักพระ ชักพุ่ม จึงเป็นภาพสะท้อนถึงความสามัคคีและความเจริญทางวัฒนธรรมประจำถิ่น อันควรค่าแก่การสืบสานและส่งเสริมเข้าสู่การจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ชาวบ้านและผู้ประกอบการได้อย่างกว้างขวางในช่วงเทศกาลนี้ในระยะยาวต่อไป