แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนในจังหวัดภูเก็ต

ผู้แต่ง

  • วรลักษณ์ ระวังภัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • นิตติกร สุวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • สิทธิ์ชัย ลิมาพร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • พรรษมน บุษบงษ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คำสำคัญ:

แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สิน,ปัญหาหนี้สิน, ภาวะหนี้สิน, การพัฒนาที่ยั่งยืน,จังหวัดภูเก็ต

บทคัดย่อ

          งานวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนในจังหวัดภูเก็ต โดยเน้นไปที่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพโดยเก็บรวบรวมข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้บริหารสถาบันการเงินประเภทต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 6 คน และยังเพิ่มการวิจัยเชิงปริมาณในรูปของแบบสอบถาม เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหนี้สินที่มีความสัมพันธ์กับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 399 ครัวเรือน สถิติที่ใช้ประกอบด้วย การวิเคราะห์ด้วยค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติเชิงอนุมานในการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันในการวิเคราะห์ข้อมูล

          ผลการศึกษา พบว่า จากแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่กลุ่มตัวอย่างนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินมากที่สุด คือ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน และเป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง สำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหนี้สินที่มีความสัมพันธ์กับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนในจังหวัดภูเก็ตพบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหนี้สินทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ ด้านรายได้ ด้านเศรษฐกิจ ด้านค่าใช้จ่าย ด้านทัศนคติ ด้านพฤติกรรมการบริโภค ด้านวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้ และด้านการขาดความรู้เกี่ยวกับการจัดการเงิน มีความสัมพันธ์กับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินด้านการวางแผนทางการเงินในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น ด้านการเพิ่มรายได้ของครัวเรือน ด้านการประนอมหนี้ เป็นต้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-04-30