รูปแบบการสร้างชุมชนเข้มแข็งของชุมชนเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนเข้มแข็งของชุมชนเพนียด เพื่อศึกษากระบวนการขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็งของชุมชนเพนียด และเพื่อศึกษารูปแบบการสร้างชุมชนเข้มแข็งของตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
ผู้ศึกษาได้ทำการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เพื่อศึกษารูปแบบการขับเคลื่อนจากปรากฏการณ์ (phenomena) ทางสังคม การเมือง และ วัฒนธรรม ในพื้นที่ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เช่น การร่วมมือกันของผู้นำชุมชนแต่ละภาคส่วน ประชาชน และเยาวชนในชุมชน ผู้ให้ข้อมูลสำคัญประกอบด้วย นายอำเภอโคกสำโรง ปลัดอำเภอโคกสำโรง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเพนียด รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเพนียด หัวหน้าสำนักงานปลัด หัวหน้าส่วนงานช่าง หัวหน้าส่วนงานคลัง กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ตัวแทนประชาชนในชุมชน หมู่บ้านละ 2 คน รวมทั้งสิ้น 28 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสัมภาษณ์เชิงลึก คือแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-Structured Interview)
ผลการศึกษา พบว่า การมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนเข้มแข็งของตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ พบว่าผู้นำชุมชน คือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเพนียด เป็นผู้ตัดสินใจในการดำเนินโครงการเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง 2) การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ พบว่าผู้นำชุมชน เยาวชน และชาวบ้าน รวมไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ 3) การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ พบว่าผู้นำชุมชน เยาวชน ชาวบ้านในตำบลเพนียดมีส่วนร่วมในการได้รับผลประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน และ 4) การมีส่วนร่วมในการประเมินผล พบว่าผู้นำชุมชน ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเพนียด กำนันตำบลเพนียด ผู้ใหญ่บ้าน ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานของ โครงการหรือกิจกรรม
โดยในส่วนของกระบวนการขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็งของชุมชนเพนียดนั้นเริ่มจากปัญหาด้านยาเสพติด ปัญหาความแตกแยกของชุมชน และปัญหาขาดการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการพื้นที่ ประชาชนตำบลเพนียด การเริ่มเข้าสู่กระบวนการขับเคลื่อนความเข้มแข็งนั้นเริ่มจากการแบ่งปันปัญหาร่วมกัน โดยมีแกนนำหลักคือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเพนียด กำนันตำบลเพนียด และริเริ่มในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะเห็นได้ว่าผู้นำชุมชนทำให้การขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็งประสบความสำเร็จ
รูปแบบการสร้างชุมชนเข้มแข็งของตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ชุมชนเข้มแข็งของตำบลเพนียดเกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเพนียด โดยเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เป็นของนายกฯ เองทั้งหมด จากนั้นกำนันตำบลเพนียดได้เข้ามาช่วยนายกฯ ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดความสามัคคี ปัญหายาเสพติดลดลง ต่อมาองคมนตรีให้ความสนใจในการดำเนินกิจกรรมของชุมชนจน ได้รับเลือกจากองคมนตรีให้เป็นตำบลคุณธรรม รวมไปถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน องค์กรอิสระ ได้ให้งบประมาณสนับสนุนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนมีการ ดำเนินงานสร้างชุมชนเข้มแข็งให้เกิดความยั่งยืน
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
All contents and information in the manuscripts published by Journal of Political Science Critique are the authors’ opinions; thus, the authors take sole responsibility for any contents. The editorial board does not agree with or accept responsibility for the manuscripts.
All published articles, information, contents, pictures, or other things in Journal of Political Science Critique are Copyright by the Journal. All Rights Reserved. All contents may not be copied or duplicated in whole or part by any means without the prior written permission of Journal of Political Science Critique.
References
กาญจนา แก้วเทพ. (2538). การพัฒนาแนววัฒนธรรมชุมชน. กรุงเทพมหานคร: สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา.
เกษม วัฒนชัย. (2550). “เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ.” วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา 5(2): 155-156.
ทิศนา แขมมณี. (2551). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วิยะดา แก้วก่อง และสุนันทา วีรกุลเทวัญ. (2552). ความเข้มแข็งของชุมชนชาวส่วยบ้านหนองตาดา อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์. วิทยานิพนธ์ ค.ม. (ภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาวิชาชีพ). บุรีรัมย์: ราชภัฏบุรีรัมย์.
ศุภวัฒน์ ปภัสสรากาญจน์. (2558). “ความเข้มแข็งและศักยภาพขององค์กรชุมชนในจังหวัดสุพรรณบุรี.” วารสารการบริหารท้องถิ่น 8(3): 114-117.
สนธยา พลศรี. (2533). ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน. กรุงเทพมหานคร: โอเดียนสโตร์.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2550). ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
อนุชา เสมารัตน์. (2560). “ศาสตร์พระราชา” รัฏฐาภิรักษ์. 59(1) มกราคม-เมษายน.