รูปแบบภาวะผู้นำของสตรีกับบทบาทการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย กรณีศึกษา ภาคเหนือตอนล่าง
คำสำคัญ:
ภาวะผู้นำสตรี, เด็กและเยาวชนไทย, การพัฒนาบทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่อง รูปแบบภาวะผู้นำของสตรีกับบทบาทการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย กรณีศึกษา ภาคเหนือตอนล่าง มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาบริบทภาวะผู้นำของสตรีในประเทศไทย 2. ศึกษาบทบาทของสตรีในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย และ 3. นำเสนอรูปแบบภาวะผู้นำของสตรีในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย กรณีศึกษา ภาคเหนือตอนล่าง เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาเอกสาร บทความ และการสัมภาษณ์เจาะลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 18 คน ได้แก่ นักวิชาการ 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ข้าราชการในกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว 5 คน นักสังคมสงเคราะห์ 4 คน และการสนทนากลุ่ม จำนวน 12 คน นักวิชาการ 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ข้าราชการในกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว 3 คน และนักสังคมสงเคราะห์ 3 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การระดมสมอง และตรวจสอบข้อมูลโดยวิธีสามเส้า ผลการวิจัยพบว่า 1. บริบทภาวะผู้นำของสตรีในประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน จะเห็นได้ว่าสตรีมีบทบาทในการดำเนินงานและเป็นผู้นําทั้งภาครัฐและเอกชนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความเสมอภาคทางด้านสังคมที่ผู้หญิงและผู้ชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน ทำให้ศักยภาพของผู้หญิงทัดเทียมกับผู้ชายหรืองานบางอย่างผู้หญิงสามารถทำได้คล้ายผู้ชาย 2. บทบาทของภาวะผู้นำสตรีในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย พบว่า ผู้นำสตรีมีบทบาทในการอบรมบ่มเพาะเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนในอนาคตเจริญเติบโตจากเบ้าหลอมที่ดีทั้งจากครอบครัว และสถาบันการศึกษา ผู้นำสตรีควรมีบทบาทในการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นรากฐานของการพัฒนาภาวะผู้นำของสตรี และ 3. นำเสนอรูปแบบภาวะผู้นำของสตรีในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย กรณีศึกษา ภาคเหนือตอนล่าง พบว่า รูปแบบภาวะผู้นำของสตรีในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ใช้รูปแบบ DDSL ประกอบด้วย 1. ความสะอาด 2. ความมีระเบียบ 3. ความสุภาพนุ่มนวล 4. การตรงต่อเวลา 5. สมาธิ 6. การพัฒนาทักษะ เพื่อเป็นผู้นำ และ 7. การเรียนรู้ตลอดชีวิต