“ไชยาโมเดล” โมเดลเครือข่ายระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน : กรณีผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่วิจัยเชิงพื้นที่
Main Article Content
Abstract
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความชัดเจนในรูปแบบการแก้ปัญหา งานวิจัยนี้จึงพัฒนาระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกโดยใช้ “ลานสกาโมเดล” เป็นองค์ความรู้หลักและบูรณาการร่วมกับแนวคิดการวิจัยเชิงพื้นที่ และการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ขั้นตอนซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านความเชี่ยวชาญของทีมวิจัย คือ 1) กำหนดโจทย์วิจัย 2) ดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม 3) กำหนดผู้รับผิดชอบเครือข่ายสุขภาพอำเภอ 4) ปฏิบัตงานประจำสู่การวิจัยเชิงพื้นที่ และ 5) ติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการในช่วงเดือนเมษายนถึง ธันวาคม พ.ศ. 2559 การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ “ไชยาโมเดล” เครือข่ายระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 54 หมู่บ้านของอำเภอไชยา ประกอบด้วย 7 กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1) การประเมินหมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออก 2) การติดตั้งระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำ 3) กำหนดโปรแกรม ดัชนีลูกน้ำโมเดล (https://lim.wu.ac.th) 4) พัฒนาสมรรถนะด้านความรู้เรื่องโรคและดัชนีลูกน้ำยุงลายแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,007 คน 5) พัฒนารูปแบบแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกระดับตำบลจำนวน 3 ตำบล 6) พัฒนางานประจำให้เป็นงานวิจัยเชิงพื้นที่ และ 7) การทำงานเชิงเครือข่ายในการเฝ้าระวังการระบาดโรคไข้เลือดออกของ 4 กลุ่มคน ผลลัพธ์คือมีระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย อสม. มีความรู้เรื่องโรคและดัชนีลูกน้ำยุงลายเพิ่มขึ้น และการตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราป่วยลดลง และข้อเสนอแนะ ได้แก่ การกำหนดเป็นนโยบายของพื้นที่ได้รับการสนับสนันงบประมาณ และมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง