การพัฒนาพื้นที่ย่านหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร

ผู้แต่ง

  • อนาวิล เวชธนากร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • กฤตพร ห้าวเจริญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

DOI:

https://doi.org/10.14456/bei.2022.1

คำสำคัญ:

การพัฒนาพื้นที่, จุดรวมกิจกรรม, ย่านหัวลำโพง

บทคัดย่อ

การศึกษาการพัฒนาพื้นที่ย่านหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ย่านหัวลำโพงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากย่านหัวลำโพงมีบทบาทเป็นย่านคมนาคมขนส่งระบบรางที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร และยังเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) อีกทั้งในปัจจุบัน “แผนการย้ายศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งระบบราง จากสถานีกรุงเทพไปยังสถานีกลางบางซื่อ” ของการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ในระหว่างการดำเนินการ การศึกษาถึงพัฒนาการของย่านหัวลำโพงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม แผน นโยบาย และโครงการที่เกี่ยวข้องนั้น จะทำให้ทราบและเข้าใจถึงบทบาทและปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ย่านหัวลำโพง ทั้งนี้ยังคงศึกษาถึงสภาพทั่วไปและปัญหาของพื้นที่ย่านหัวลำโพงในปัจจุบันนำมาสู่การวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหา ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน กิจกรรม และพื้นที่ ของแต่ละบริเวณภายในย่านหัวลำโพงเพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาพื้นที่ย่านหัวลำโพง

ผลการวิจัยพบว่า ในอดีตย่านหัวลำโพงมีบทบาทเป็นย่านคมนาคมขนส่งระบบรางที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งทั้งมวลชนและสินค้าจากทุกภูมิภาคเข้ามาสู่กรุงเทพฯ ด้วยสภาพพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างสถานีรถไฟภายในย่าน ส่งผลให้เกิดเป็นจุดรวมกิจกรรม (Node) ของทั้งผู้โดยสารรถไฟ นักเดินทาง นักท่องเที่ยว รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าทั้งชาวไทยและชาวจีน ส่งผลให้พื้นที่รอบสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) รายล้อมไปด้วยอาคารตึกแถวที่ประกอบกิจการร้านค้าและบริการที่มีความสัมพันธ์กับสถานีรถไฟอย่างมาก ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจาก “แผนการย้ายกิจการขนส่งสินค้าไปยังย่านสินค้าพหลโยธิน” และ “โครงการทางพิเศษศรีรัช” ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของกิจกรรมและการสัญจรภายในย่าน จนกระทั่งเปลี่ยนผ่านมาถึงในปัจจุบันย่านหัวลำโพงยังคงมีบทบาทเป็นย่านศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งระบบรางแต่เนื่องจากอายุการใช้งานพื้นที่ และผู้คนจำนวนมากที่เข้าออกเพื่อประกอบกิจกรรมภายในย่านนั้น มีมายาวนานถึง 105 ปี ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมด้านสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ในพื้นที่บางบริเวณของย่าน พบสภาพปัญหาความแออัดและไม่เป็นระเบียบบริเวณจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร ปัญหาทางเดินเท้าที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเดิน รวมถึงอาคารตึกแถวส่วนมากมีความชำรุดและเสื่อมสภาพ นำมาสู่การเสนอแนะแนวทางการพัฒนาพื้นที่ย่านหัวลำโพงทั้งด้านทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม เพื่อปรับปรุงและแก้ไขสภาพปัญหาที่พบในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของสภาพพื้นที่ ความต้องการของผู้คนภายในย่าน รวมถึงแผนแม่บทและออกแบบเชิงความคิดเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพของการรถไฟแห่งประเทศไทย

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-02-01

How to Cite

เวชธนากร อ., & ห้าวเจริญ ก. (2022). การพัฒนาพื้นที่ย่านหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร. สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างวินิจฉัย, 21(1), 1–20. https://doi.org/10.14456/bei.2022.1