การบริหารจัดการศูนย์กีฬาและวิทยาศาสตร์การกีฬา ในมหาวิทยาลัย

Main Article Content

สราวุฒิ พงษ์พิพัฒน์
ประกรณ์ ตุ้ยศรี
ณัชชาจารย์ โรจน์วัฒนดิษกุล

บทคัดย่อ

        การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการบริหารจัดการศูนย์กีฬา และศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ในมหาวิทยาลัย การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล 3 วิธี คือ การใช้ข้อมูลจากเอกสาร การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม โดยมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญเป็นผู้บริหารศูนย์กีฬาและศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ในมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน ที่มิใช่มหาวิทยาลัยราชภัฏหรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดยใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง จำนวน 6 คน นำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ ด้วยวิธีการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา


        ผลการศึกษา พบว่า ศูนย์กีฬาและศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ในมหาวิทยาลัย เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการให้บริการ ส่งเสริมและพัฒนาทางด้านกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย การกีฬาและวิทยาศาสตร์การกีฬา ส่วนใหญ่มีพัฒนาการในการยกระดับมาจากงานกีฬา กองกิจการนิสิตนักศึกษา มีการกำหนดแผนงาน สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และแผนพัฒนาการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่ยังพบว่ามีข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณ สำหรับการจัดองค์กรและระบบงาน พบว่า มีการมอบหมายงานเป็นไปตามโครงสร้างขององค์กร แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับงบประมาณ ในส่วนของการนำองค์กร พบว่า ผู้บริหารมีกระบวนการในการตัดสินใจโดยยึดเอาหลักเกณฑ์ขององค์กรเป็นสำคัญ แต่พบอุปสรรคเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจที่ต้องใช้อำนาจของคณะกรรมการฯ ทำให้เกิดความล่าช้า และปัญหาในการคัดเลือกบุคลากรที่ไม่ได้มาตามระบบ นอกจากนี้ด้านการควบคุมงาน พบว่า ผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกับการติดตามงาน มีกระบวนการในการวัดผลการปฏิบัติงานทั้งก่อนปฏิบัติงาน ขณะปฏิบัติงาน และหลังการปฏิบัติงาน แต่พบว่ายังไม่มีความเสมอภาคในการประเมิน เพราะพนักงาน เจ้าหน้าที่ ไม่มีโอกาสประเมินผู้บริหาร และบุคลากรเกิดความเบื่อหน่ายในการประเมิน

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biography

สราวุฒิ พงษ์พิพัฒน์, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อาจารย์ ดร.สราวุฒิ พงษ์พิพัฒน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาวิชาพลศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความเชี่ยวชาญด้านการพลศึกษา วิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา การจัดการกีฬา และการจัดการความรู้ทางการกีฬา

References

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2550). แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2550-2554). เข้าถึงจาก

http://www.mots.go.th.

สราวุฒิ พงษ์พิพัฒน์. (2554). การพัฒนารูปแบบการจัดการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ในมหาวิทยาลัยพะเยา (ดุษฎีนิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย). สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา.

สุพิตร สมาหิโต. (2547). การพัฒนาวิทยาศาสตร์การกีฬาในสถาบันอุดมศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2555). สรุปสาระสำคัญแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555 – 2559. เข้าถึงจาก http://www.nesdb.go.th.

อุษณีย์ จินตนาประวาสี. (2544). การบริหารการกีฬาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (การค้นคว้าแบบอิสระ วท.ม.(วิทยาศาสตร์การกีฬา). เชียงใหม่: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Stuart Crainer. (2551). Key Management ideas: รวมสุดยอดแนวคิดการจัดการสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.