ตรรกศาสตร์เชิงพุทธ

Main Article Content

อรพรรณ สุชาติกุลวิทย์

บทคัดย่อ

ตรรกศาสตร์เป็นวิธีการให้เหตุผล และการโต้แย้งความคิดอย่างเป็นระบบ วิธีการทางตรรกศาสตร์ปรากฏเริ่มต้นในกรีซก่อนเข้าสู่อินเดีย ซึ่งต่อมาทั้งสองประเทศนี้เป็นจุดเริ่มต้นของตรรกศาสตร์ระบบต่างๆที่ใช้กันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแบบสัญลักษณ์ แบบวิทยาศาสตร์ แบบอุปนัย และแบบนิรนัย ในการใช้ตรรกศาสตร์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกล่าวไว้ในพระสูตรที่มีชื่อว่า กาลามสูตร (เกสปุตตสูตร) ว่าไม่ควรด่วนปลงใจเชื่อสิ่งที่รู้ผ่านรูปแบบของตรรกศาสตร์ อย่างไรก็ดี ความหมายของตรรกศาสตร์ที่พระองค์กล่าวไว้ในพระสูตรดังกล่าว ต่างกับความหมายของตรรกศาสตร์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อความเข้าใจความหมายตรรกศาสตร์ที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงระบบ รูปแบบ และแนวคิด ที่วิธีทางตรรกศาสตร์ครอบคลุม ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาความหมายตรรกศาสตร์ นอกจากนี้จะได้ทำการวิเคราะห์ตรรกศาสตร์โดยอาศัยกรอบความคิดเรื่อง ทฤษฎีความรู้ ธรรมชาติของความจริง และการสื่อสาร


จากการศึกษาพบว่า ตรรกศาสตร์ที่พระพุทธองค์กล่าวถึงเป็นตรรกศาสตร์ในความหมายของปรัชญาอินเดีย ซึ่งแตกต่างจากตรรกศาสตร์ในปัจจุบัน ตรรกศาสตร์ในปรัชญาอินเดียในยุคสมัยนั้นให้ความสำคัญกับความนึกคิดซึ่งอาจนำมาสู่ความเห็นผิด (มิจฉาทิฐิ) ตามแนวคิดของพระพุทธศาสนา นอกจากนี้เมื่อศึกษาผ่านมุมมองของการเข้าถึงความรู้ ความเป็นจริง และการสื่อสาร พบว่า พระพุทธองค์ต้องการให้ระมัดระวังไม่ควรด่วนปลงใจเชื่อเพราะเหตุต่างๆดังที่ปรากฏในกาลามสูตร 3 ประการ คือ 1) ในด้านการเข้าถึงความรู้ พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับความรู้ระดับภาวนามยปัญญาหรือญาณทัสสนะ คือความเห็นแจ้ง ซึ่งความรู้ประเภทนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยความนึกคิดซึ่งเป็นความรู้ระดับจินตามยปัญญา 2) ผู้ที่ใช้ความคิดไตร่ตรองแต่ไม่ปฏิบัติ ความเข้าใจที่เกิดขึ้นมักนำไปสู่ความยึดมั่นถือมั่น และนำไปสู่ความเข้าใจโลกโดยไม่ตรงความเป็นจริง เช่น เข้าใจว่าโลกนี้เที่ยง    และ 3) การใช้ตรรกศาสตร์ในปรัชญาอินเดียเป็นไปเพื่ออ้างถึงอำนาจของพระเจ้า และคัมภีร์พระเวท ในขณะเดียวกัน พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนการใช้ตรรกศาสตร์ในรูปแบบของการสื่อสาร ด้วย การพิจารณาไตร่ตรอง และการสื่อสารอย่างเป็นเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่มนุษย์ทุกคนสามารถมีประสบการณ์ร่วมกันได้

Article Details

How to Cite
สุชาติกุลวิทย์ อรพรรณ. 2018. “ตรรกศาสตร์เชิงพุทธ”. ธรรมธารา 4 (1):1-27. https://so01.tci-thaijo.org/index.php/dhammadhara/article/view/125669.
บท
บทความวิชาการทางพระพุทธศาสนา
Bookmark and Share

References

ประเวศ อินทองปาน. 2553. พุทธปรัชญาในพระไตรปิฎก. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

พระศรีคัมภีรญาณ (สมจินต์ วันจันทร์). 2556. พุทธปรัชญา. อยุธยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

วันเพ็ญ บงกชสถิต. 2535. ชีวิตและความคิดของนักปรัชญา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

สนั่น ไชยานุกุล. 2519. ปรัชญาอินเดีย. พิมพ์ครั้งที่ 2. อยุธยา: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย .

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์. 2558. ปรัชญาภาษา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Micha l Walicki. 2006. Introduction to Logic. Bergon: University of Bergen.