ในวารสารธรรมธาราฉบับนี้ บทความเรื่อง ตรรกศาสตร์เชิงพุทธ ของ ดร.อรพรรณ สุชาติกุลวิทย์ ได้วิเคราะห์เรื่องตรรกศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจ ท่านผู้อ่านที่เคยสงสัยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตือนไว้ในกาลามสูตรให้อย่าด่วนเชื่อเพราะสอดคล้องกับหลักตรรกที่ตนคิดนั้นหมายถึงอย่างไร หลักตรรกที่พระองค์ทรงกล่าวเหมือนหรือแตกต่างจากหลักตรรกศาสตร์ในปัจจุบัน ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้ด่วนเชื่อเพราะเหตุต่างๆ ถึง 10 ประการ ซึ่งดูเหมือนจะทำให้เชื่ออะไรแทบไม่ได้เลยแล้วมีหลักอะไรที่ถูกต้องในการเข้าถึงความรู้ที่แท้จริง มีคำตอบที่เป็นประโยชน์จากบทความนี้

บทความเรื่อง จักกวัตติสูตร : ศึกษาวิเคราะห์บนฐานทฤษฎีอรรถปริวรรตศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย สติมั่น ได้แสดงให้เราเห็นถึงหลักการวิเคราะห์พระสูตรต่างๆ ของคัมภีร์เนตติปกรณ์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญในพระพุทธศาสนาเถรวาท ทางพม่าถึงกับยกขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก

พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร. ได้แปลและเรียบเรียงบทความเรื่อง บารมี 30 ทัศในพระพุทธศาสนาเถรวาท ของ ดร. Katsumoto Karenทำให้เห็นถึงพัฒนาการของคำสอนเรื่องบารมี จากบารมี 10 ทัศ เป็นบารมี 30 ทัศ และทำให้เราได้รู้ถึงความสนใจในการวิจัยพุทธเถรวาทของนักวิชาการในประเทศญี่ปุ่น

ดร.เมธี พิทักษ์ธีระธรรม ยังมีผลงานคุณภาพสูงออกมาอย่างต่อเนื่อง ในฉบับนี้ได้เขียนคำแปลพร้อมเชิงอรรถวิเคราะห์ (3)
ของคัมภีร์ Samayabhedoparacanacakra ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ให้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนายุคต้นของหินยานฝ่ายเหนือ สิ่งที่ท่านผู้อ่านจะได้จากบทความนี้ ไม่เพียงแต่เนื้อหาที่แปลมาจากคัมภีร์ทิเบตเท่านั้น แต่จะได้เห็นวิธีการแปลและตรวจชำระคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาที่มีคุณภาพสูงว่าต้องทำอย่างไร มีการเปรียบเทียบกับเนื้อหาของคัมภีร์เดียวกันที่แปลมาเป็นภาษาจีนโดยพระถังซัมจั๋งและท่านอื่นๆ หลายฉบับ รวมทั้งมีการวิเคราะห์ถึงคำศัพท์ที่น่าจะเป็นในคัมภีร์ต้นฉบับภาษาบาลีหรือสันสกฤต ก่อนที่จะแปลมาเป็นคัมภีร์จีนและทิเบต นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบคำแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นและความเห็นของนักวิชาการสมัยใหม่อย่างละเอียดลออ

วารสารธรรมธารายังคงแน่นด้วยคุณภาพเช่นเดิม เพื่อเป็นกำลังส่วนหนึ่งในการสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่วงวิชาการพุทธศาสตร์ของประเทศไทย และหวังว่าจะได้รับความเมตตาสนับสนุนและคำแนะนำจากทุกท่านด้วยดีเช่นเคย

 

เผยแพร่แล้ว: 2018-06-23