การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการพัฒนาจิตของกรรมฐาน 5 สายในสังคมไทย

Main Article Content

Wutthichai Wutthichayo Teerapaopong

บทคัดย่อ

        การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1) ศึกษาแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนาจิตในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท 2) ศึกษารูปแบบการพัฒนาจิตของกรรมฐาน 5 สายในสังคมไทย และ 3) เปรียบเทียบรูปแบบการพัฒนาจิตของกรรมฐาน 5 สายในสังคมไทย เป็นการวิจัยเชิงเอกสารจากพระไตรปิฎก คัมภีร์วิสุทธิมรรค และหนังสือด้านการปฏิบัติของ 5 สาย ผลการวิจัยพบว่า
ในพระไตรปิฎกมีการอธิบายหลักการพัฒนาจิตในรูปของกระบวนการที่เป็นไปตามระบบศีล สมาธิ ปัญญา มีวิธีการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนปรากฏอยู่ในอานาปานสติสูตร และสติปัฏฐานสูตร เป็นการปฏิบัติแบบวิถีนักบวช นอกจากนี้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคปรากฏการอธิบายขั้นตอนในการปฏิบัติตามระบบศีล สมาธิ ปัญญา มีวิธีการเจริญสมาธิด้วยกรรมฐาน 40 วิธี ต่อด้วยการเจริญวิปัสสนาตามหลักญาณ 16 ซึ่งเป็นการปฏิบัติแบบเข้มตามแบบแผน การปฏิบัติในพระไตรปิฎกและวิสุทธิมรรคต่างก็มีเป้าหมายเพื่อการบรรลุมรรค ผล และนิพพาน
        จากการศึกษารูปแบบการพัฒนาจิตของกรรมฐาน 5 สายในสังคมไทย พบว่า 1) สายพุทโธ ใช้วิธีการภาวนาในระดับสมถะและพิจารณาธาตุขันธ์ในระดับวิปัสสนา เป็นการปฏิบัติแบบเข้ม 2) สายอานาปานสติใช้หลักอานาปานสติ 16 ขั้น เป็นการปฏิบัติแบบพื้นฐานและแบบเข้ม 3) สายพองหนอ-ยุบหนอ ใช้หลักสติปัฏฐาน เน้นดูอาการพองยุบของท้อง เป็นการปฏิบัติแบบเข้มอย่างมีแบบแผน 4) สายรูปนาม ใช้หลักสติปัฏฐานเน้นอิริยาบถ 4 เป็นการปฏิบัติแบบเข้ม และ 5) สายสัมมาอะระหัง ใช้นิมิตและคำภาวนา เป็นการปฏิบัติแบบทั่วไปและแบบเข้ม
       รูปแบบการพัฒนาจิตของกรรมฐานทั้ง 5 สายต่างมีต้นกำเนิดในพุทธศตวรรษที่ 25 มีรูปแบบการปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติในคัมภีร์ และมุ่งเป้าหมายไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานเช่นเดียวกัน โดยมีความแตกต่างกันเพียงเทคนิควิธีการปฏิบัติ ข้อวัตร วิธีการสอน และวิธีการวัดผล บางประการเท่านั้น

Article Details

How to Cite
Teerapaopong, Wutthichai Wutthichayo. 2020. “การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการพัฒนาจิตของกรรมฐาน 5 สายในสังคมไทย”. ธรรมธารา 6 (1):3-50. https://so01.tci-thaijo.org/index.php/dhammadhara/article/view/235805.
บท
บทความวิจัยทางพระพุทธศาสนา
Bookmark and Share

References

─1. คัมภีร์

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ 2500. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2500.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2539.

─2. หนังสือ

แนบ มหานีรานนท์. แนะแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนา วิสุทธิ 7, พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: บริษัทเคล็ดไทย จำกัด, 2548.

พระพรหมคุณาภรณ์. พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย, พิมพ์ครั้งที่ 40. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ผลิธัมม์, 2557.

พระพุทธโฆสเถระ. คัมภีร์วิสุทธิมรรค 100 ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ), พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ธนาเพรส, 2555.

พระมหาบัว ญาณสัมปันโน. ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านหลวงปู่มั่น ภูริทัตตะ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สุภา, 2551.

พุทธทาสภิกขุ. อานาปานสติสมบูรณ์แบบ. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสภา, 2535.

วริยา ชินวรรโณ และคณะ. สมาธิในพระไตรปิฎก. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.

วริยา ชินวรรโณ และคณะ. สมาธิในพระไตรปิฎก วิวัฒนาการการตีความคำสอนเรื่องสมาธิในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.

วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม. คู่มือปฏิบัติ สมถวิปัสสนากรรมฐาน 5 สาย. นครปฐม: เพชรเกษม พริ้นติ้ง, 2553.