การพัฒนาตำราเสียงเพื่อการศึกษาทางไกลในระดับประถมศึกษา

Main Article Content

วาสนา ทวีกุลทรัพย์

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาตำราเสียงเพื่อการศึกษาทางไกลในระดับประถมศึกษาให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด (2) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนประถมศึกษาที่เรียนด้วยตำราเสียงเพื่อการศึกษาทางไกล (3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนประถมศึกษาที่เรียนด้วยตำราเสียงเพื่อการศึกษาทางไกล (4) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ของครูผู้รับการอบรม เรื่องการออกแบบระบบการผลิตตำราเสียงเพื่อการศึกษาทางไกล และ (5) ศึกษาความพึงพอใจของครูผู้รับการอบรมที่มีต่อการอบรม


            รูปแบบของการวิจัย เป็นการวิจัยและพัฒนา การดำเนินการวิจัยมี 2 ระยะ ระยะที่หนึ่งการพัฒนาและทดลองใช้ตำราเสียงเพื่อการศึกษาทางไกลในระดับประถมศึกษามีขั้นตอนดังนี้ (1) ศึกษาให้ได้องค์ความรู้เพื่อผลิตตำราเสียงเพื่อการศึกษาทางไกล (2) ผลิตตำราเสียงจำนวน 3 รูปแบบ คือ ตำราเสียงแบบแบบฝึกหัด ตำราเสียงแบบบทเรียนแบบโปรแกรม และตำราเสียงแบบสรุปเนื้อหา (3) ตรวจสอบคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากนั้นนำมาปรับปรุง และ (4) ทดลองใช้เบื้องต้นกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 40 คน โดยได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม ภาคเรียนที่ 1 โรงเรียนวัดบ่อ (นันทวิทยา) นครปากเกร็ด ๑ ในปีการศึกษา 2560 ทำการทดสอบกับนักเรียน 3 ขั้นตอน คือ ทดสอบแบบเดี่ยว (จำนวน 3 คน) ทดสอบแบบกลุ่ม (จำนวน 6 คน) และทดสอบแบบภาคสนาม (จำนวน 31 คน) เครื่องมือการวิจัย คือ (1) ตำราเสียงเพื่อการศึกษาทางไกลทั้ง 3 รูปแบบ (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน และ (3) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน ระยะที่สองการจัดอบรมให้ความรู้กับครูประถมศึกษาเรื่องการออกแบบระบบการผลิตตำราเสียงเพื่อการศึกษาทางไกล สื่อที่ใช้ในการอบรมในรูปชุดฝึกอบรม คือ เอกสารการฝึกอบรม สไลด์คอมพิวเตอร์ และวิทยากร กลุ่มตัวอย่าง คือ ครูประถมศึกษามีจำนวน 30 คน ที่ปฏิบัติการสอนในปีการศึกษา 2560 โรงเรียนประถมศึกษาในจังหวัดนนทบุรี ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือการวิจัยประกอบด้วย (1) ชุดฝึกอบรมเรื่องการออกแบบระบบการผลิตตำราเสียงเพื่อการศึกษาทางไกล (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การอบรม และ (3) แบบสอบถามความพึงพอใจของครูผู้รับการอบรม


            ผลการวิจัยดังนี้ (1) ตำราเสียงเพื่อการศึกษาทางไกลในระดับประถมศึกษา มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 E1/E2 = 81.77/80.97, 80.81/79.44 และ 81.90/80.00  (2) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยตำราเสียงหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  (3) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อตำราเสียงอยู่ในระดับมากที่สุด ในด้านการนำเสนอและผลที่ได้รับจากการเรียนด้วยตำราเสียง (4) ครูผู้รับการอบรมเรื่องการออกแบบระบบการผลิตตำราเสียงเพื่อการศึกษาทางไกล มีผลสัมฤทธิ์ทางการอบรมหลังอบรมสูงกว่าก่อนอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ (5) ครูผู้รับการอบรมมีความพึงพอใจต่อการอบรมอยู่ในระดับมากด้านความรู้ที่ได้รับ และการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ชัยยงค์ พรหมวงศ์. (2547). กระบวนการสันนิเวทนาการ ในเอกสารการสอนชุดวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา หน่วยที่ 2 (น.1 – 8) นนทบุรี: สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ชัยยงค์ พรหมวงศ์. (2555). การศึกษาทางไกลกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในประมวลสาระชุดวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หน่วยที่ 12 (น.9 – 15) นนทบุรี: สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช.

นิคม ทาแดง. (2556). วิธีการและสื่อการฝึกอบรมทางไกล ในประมวลสาระชุดวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการสอนและการฝึกอบรม หน่วยที่ 10 (น.8 – 15) นนทบุรี: สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

วาสนา ทวีกุลทรัพย์. (2560). สื่อเสียงเพื่อการศึกษา ในเอกสารการสอนชุดวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา หน่วยที่ 9 (น.8 – 15) นนทบุรี: สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

Berner, J. (1963). The Process of Education. NY: Alfud A. Knopf Inc. and Radom House, Inc. House, Inc.

Piget, J. (1972). Intellectual evaluation for adolescence to adulthood. Human Development, 19, 1-12. Retrieved from https://www.gotoknow.org