การนับถือผีของชาวไทยย้อ : ความสัมพันธ์ด้านความเชื่อและนิเวศวิทยาวัฒนธรรม

Authors

  • อธิราชย์ นันขันตี
  • ศรัญญา ประสพชิงชนะ
  • ราชันย์ นิลวรรณาภา

Abstract

           การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงการนับถือของชาวไทยย้อ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม 2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ด้านความเชื่อกับชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง และนิเวศวิทยาวัฒนธรรมผ่านการนับถือผีของชาวไทยย้อ อำเภอท่าอุเทนจังหวัดนครพนมและ 3) เพื่อศึกษาบทบาทและความสำคัญของการนับถือถือผีต่อวิถีชีวิตชาวไทยย้ออำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมโดยวิธีการดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)

            ผลการวิจัยพบว่า ชาวไทยย้อท่าอุเทนนับถือผีมาจากบรรพบุรุษ มีการเปลี่ยนแปลงคือ1) ยุคแรกตั้งเมืองท่าอุเทน เจ้าเมืองอิงอำนาจจากผีญาพ่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้ถูกปกครอง 2) ยุคปฏิรูปการปกครองได้ยกเลิกระบบอาญาสี่ และหลังปราบปรามกบฏผีบุญผีญาพ่อที่ผูกขาดอำนาจจากอาญาสี่ล่มสลาย 3) ยุคพระอาจารย์สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ พัฒนาพุทธศาสนาและสร้างพระธาตุท่าอุเทนขึ้นเป็นของฮักษาแทนการนับถือผี4) ปัจจุบันชาวไทยย้ออำเภอท่าอุเทนได้สถาปนาผีญาพ่อเป็นเจ้าพ่อหลักเมือง

            การนับถือผีที่สัมพันธ์กับความเชื่อกับชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง คือ 1) ญาพ่อเจ้าโต่ง คล้ายคลึงกับความเชื่อกับ 5 ชุมชน คือ ใชุมชนลวง ชุมชนบ้านธาตุน้อย ชุมชนเมืองหลวงพระบาง ชุมชนเก่าสกลนคร ชุมชนบ้านศรีครเตา มีขอบเขตอำนาจทับซ้อนกับเจ้าเฮือน 3 พระธาตุพนม 2) ผีญาพ่อในภูมิทัศน์วัฒนธรรมสถานที่เคยพักพิงเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น3) การนับถือผีของชาวไทยย้อมีสัมพันธ์กับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย 4) การนับถือผีในฐานะผีตัวเดียวกัน อาทิ ท่าอุเทน ไชยบุรี หินบูร ท่าดอกแก้ว ตาลปากน้ำ บ้านโพน หัวบึงทุ่งการนับถือผีกับนิเวศวิทยาวัฒนธรรมคือ ญาพ่อศรีสุทโธ อารักษ์บึงมอ นางแอกไค้ อารักษ์แม่น้ำโขง นางจันทา อารักษ์ห้วยทวย ท้าวอำคา อารักษ์หนองสุ่ง และ ท้าวคำไค อารักษ์ฮ่องแซง ทำหน้าที่ดูแลรักษา แบ่งปันทรัพยากร ตามหลัก “บ่เอิ้น บ่ขาน บ่วาน บ่ช่อย”  และปฏิบัติตาม ขะลำ อย่างเคร่งครัด เป็นระบบการจัดการทรัพยากรจากภูมิปัญญาของชุมชน

            บทบาทและความสำคัญของการนับถือผีต่อวิถีชีวิตชาวไทยย้อท่าอุเทนปัจจุบันมีบทบาทต่อการสร้างความมั่นคงทางจิตใจ เมื่อเกิดความรู้สึกกังวล ความเครียด หวั่นวิตกอาทิ ความเจ็บป่วย ค้าขายไม่ได้กำไร เกณฑ์ทหาร แม้ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะช่วยเหลือได้ผลสำเร็จเพียงใดแต่ได้รับความสบายใจ บทบาทของญาพ่อต่อการแสดงพลังและการอบรมระเบียบสังคมเกิดจากการปฏิบัติตาม ฮีตคอง ขะลำ และหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่มุ่งเน้นในระดับโลกียะ การประกอบสัมมาอาชีพ และดำรงชีวิตอย่างสงบสุข

Downloads

How to Cite

นันขันตี อ., ประสพชิงชนะ ศ., & นิลวรรณาภา ร. (2016). การนับถือผีของชาวไทยย้อ : ความสัมพันธ์ด้านความเชื่อและนิเวศวิทยาวัฒนธรรม. Chophayom Journal, 27(1), 15–24. Retrieved from https://so01.tci-thaijo.org/index.php/ejChophayom/article/view/72688

Issue

Section

บทความวิจัยทางด้านมนุษยศาสตร์