จริยธรรมการตีพิมพ์

จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ (Publication Ethics)

บทบาทและหน้าที่ของผู้แต่ง (Duties of Authors)

  1. ผู้แต่งต้องรับรองว่าผลงานที่ตนส่งมาตีพิมพ์นั้นเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน และไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของวารสารหรือสิ่งตีพิมพ์อื่นใด
  2. ผู้แต่งต้องไม่ละเมิดหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นโดยเด็ดขาด โดยต้องแสดงผลการตรวจสอบการคัดลอกผ่านโปรแกรมที่น่าเชื่อถือ และส่งผลการตรวจสอบมาพร้อมกับบทความที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว
  3. ผู้แต่งต้องรับผิดชอบเนื้อหา ข้อความรวมทั้งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ปรากฏในบทความแต่เพียงผู้เดียว
  4. ผู้แต่งต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในเชิงปัญญาในบทความ หากมีผู้แต่งหลายท่าน ขอให้ระบุผู้นิพนธ์หลัก ผู้นิพนธ์ร่วม หรือชี้แจงบทบาทของผู้นิพนธ์แต่ละคนเพื่อแสดงความโปร่งใส
  5. ผู้แต่งที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการวิจัยและเขียนบทความจริง
  6. ผู้แต่งต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย ไม่ปลอมแปลงหรือบิดเบือนข้อมูล หรือสร้างข้อมูลเท็จ และไม่เลือกแสดงข้อมูลเฉพาะที่สอดคล้องกับข้อสรุปของตัวเองเท่านั้น
  7. ผู้แต่งต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่น หากมีการนำผลงานเหล่านั้นมาใช้ในผลงานของตัวเอง ในทุกส่วนทั้งข้อความ แผนภาพ รูปภาพ ตาราง รวมถึงต้องจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความให้ถูกต้องชัดเจน ตามคำแนะนำการตีพิมพ์บทความ
  8. ผู้แต่งต้องเขียนบทความวิจัยให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ใน “คำแนะนำการตีพิมพ์บทความ”
  9. ผู้แต่งจะต้องปรับบทความตามแบบฟอร์ม (template) ที่วารสารกำหนดไว้
  10. ผู้แต่งต้องแก้ไขบทความให้ถูกต้องตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิและกองบรรณาธิการ ภายในระยะเวลาที่กำหนด
  11. ผู้แต่งต้องมีหนังสือรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หากบทความมาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในมนุษย์
  12. ผู้แต่งที่ต้องการตีพิมพ์บทความเพื่อขอสำเร็จการศึกษา ต้องมีหนังสือรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษา และลงชื่ออาจารย์ที่ปรึกษากำกับไว้ด้วย
  13. ผู้แต่งต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัย (หากมี)
  14. ผู้แต่งต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (หากมี)

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาตรวจสอบคุณภาพของบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ให้เป็นไปตามนโยบายการตีพิมพ์ที่วารสารกำหนด
  2. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้แต่ง และของผู้ประเมินบทความ แก่บุคคลอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้อง
  3. บรรณาธิการต้องตัดสินใจคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ องค์ความรู้ใหม่ที่ได้ และความชัดเจนของบทความ
  4. บรรณาธิการต้องออกใบตอบรับบทความเพื่อลงตีพิมพ์ (Acceptance Date) ให้ตรงกับความเป็นจริง
  5. บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว
  6. บรรณาธิการต้องไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความเพราะความสงสัยหรือไม่แน่ใจ ต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ข้อสงสัยนั้น ๆ ก่อน
  7. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้แต่ง ผู้ประเมิน และทีมผู้บริหาร
  8. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจัง โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น
  9. บรรณาธิการต้องยุติการประเมินบทความ หากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น และติดต่อผู้เขียนหลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจง เพื่อประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น ๆ

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)

  1. ผู้ประเมินบทความ ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ไม่มีอคติ ให้ข้อคิดเห็นที่ตรงไปตรงมาอย่างสร้างสรรค์ และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้แต่ง หากผู้ประเมินบทความพบว่าตนมีผลประโยชน์ทับซ้อนควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น
  2. ผู้ประเมินบทความ ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาจากคุณภาพของบทความ องค์ความรู้ใหม่ที่ได้ และไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจบทความ
  3. ผู้ประเมินบทความต้องให้ข้อเสนอแนะและระบุตัวอย่างผลงานวิจัยที่สำคัญ ๆ และสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมิน แต่ผู้แต่งไม่ได้อ้างถึง เข้าไปในการประเมินบทความด้วย นอกจากนี้ หากมีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือน หรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบด้วย
  4. ผู้ประเมินบทความ ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความที่พิจารณาแก่บุคคลอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  5. ผู้ประเมินบทความ ต้องประเมินบทความให้เสร็จสิ้นกระบวนการประเมินบทความภายในระยะเวลาที่บรรณาธิการกำหนด