ปัจจัยที่ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารแห่งหนึ่ง
คำสำคัญ:
ความผูกพันต่อองค์กร, ลักษณะของงาน, ประสบการณ์ในการทำงานบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยลักษณะของงาน ปัจจัยประสบการณ์ในการทำงาน และความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารแห่งหนึ่ง 2) เพื่อเปรียบเทียบความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารแห่งหนึ่ง จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล 3) เพื่อศึกษาปัจจัยลักษณะของงานและปัจจัยประสบการณ์ในการทำงานที่ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารแห่งหนึ่ง ประชากรในการศึกษา คือ พนักงานของบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารแห่งหนึ่ง จำนวน 74 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (T – test) การทดสอบความแปรปรวนทางเดียว (One - Way ANOVA) และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคุณแบบขั้นตอน (Stepwise Multiple Regression Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า ประชากรส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุ 21 - 30 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี ตำแหน่งงานแพ็คผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป มีรายได้ 15,001 – 30,000 บาท มีอายุงานน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี มีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยลักษณะของงาน ปัจจัยประสบการณ์ในการทำงานและความผูกพันต่อองค์กร โดยรวมอยู่ในระดับมาก ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลด้านอายุและอายุงานที่แตกต่างกันมีความผูกพันต่อองค์กรแตกต่างกัน ปัจจัยลักษณะของงานด้านการมีส่วนร่วมในการบริหารงาน (X4) ปัจจัยประสบการณ์ในการทำงานด้านความรู้สึกว่าตนมีความสำคัญในองค์กร (X7) ด้านความรู้สึกว่าองค์กรเป็นที่พึ่งพาได้ (X8) และด้านทัศนคติต่อเพื่อนร่วมงานและองค์กร (X10) ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยตัวแปรดังกล่าว สามารถทำนายความผูกพันต่อองค์กรได้ร้อยละ 75.4 มีสมการทำนาย คือ Y = 0.450 + 0.310 (X4) + 0.203 (X7) + 0.288 (X8) + 0.489 (X10)