แนวทางการพัฒนาการให้บริการแกร็บแท็กซี่ กรณีศึกษา: เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ผู้แต่ง

  • สุวิมล จันโททัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คำสำคัญ:

แนวทาง, การพัฒนา, การให้บริการ, แกร็บแท็กซี่

บทคัดย่อ

          การศึกษางานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจปัจจัยส่วนประสมการตลาด (7P’s) ต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการแกร็บแท็กซี่ (Grab Taxi) และแนวทางการพัฒนาการให้บริการแกร็บแท็กซี่ (Grab Taxi) ในเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยนี้ คือ ผู้ใช้บริการแกร็บแท็กซี่ (Grab Taxi)  ที่มีสัญชาติไทย ในเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษา พบว่า ผู้ใช้บริการ Grab Taxi เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุเฉลี่ย 20 – 29 ปี ระดับการศึกษาในช่วงปริญญาตรี มีอาชีพนักศึกษา มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10,000 บาท และสถานโสด ระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการต่อปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด (7P’s) ที่มีต่อการให้บริการแกร็บแท็กซี่ (Grab Taxi) ในเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่ผู้ใช้บริการให้คะแนนมากที่สุด คือ ด้านบุคลากร และด้านที่ผู้ใช้บริการให้คะแนนน้อยที่สุด ได้แก่ ด้านการส่งเสริมทางการตลาดโดย โดยทุกด้านผู้ใช้บริการให้คะแนนความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก

          แนวทางการพัฒนาการให้บริการแกร็บแท็กซี่ (Grab Taxi)  ในเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พบว่า  1) ด้านผลิตภัณฑ์ ควรมีการให้บริการประเภทรถที่หลากหลาย เพียงพอต่อความต้องการผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน 2) ด้านราคา ควรมีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรมทั้งต่อผู้ให้บริการและผู้รับบริการ 3) ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ควรมีการขยายจุดเรียกใช้บริการรถโดยสารที่เพียงพอและเหมาะสม และควรมีการปรับปรุงแอพพลิเคชั่นให้พร้อมใช้งานสม่ำเสมอ 4) ด้านการส่งเสริมทางการตลาด ควรมีนโยบายส่งเสริมการตลาดผ่านทางสื่อต่างๆ เช่น โฆษณาทางโทรทัศน์ เว็บไชต์ ป้ายโฆษณา 5) ด้านกระบวนการในการให้บริการ ควรมีการปรับปรุงด้านเวลาในการให้บริการให้มีความเหมาะสม ตั้งแต่การรับผู้โดยสาร เวลาการขับรถ การส่งผู้โดยสาร และตรวจเช็คความพร้อมในทุกๆ กระบวนการให้บริการ 6) ด้านบุคลากร ควรมีการจัดการอบรมทางด้านความซื่อสัตย์ ทักษะด้านภาษาอังกฤษพื้นฐาน ความรู้ความชำนาญในเส้นทาง และจิตบริการ และ
7) ด้านลักษณะทางกายภาพ ควรให้ความสำคัญในการตรวจเช็คสภาพของรถทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการรับรู้และเลือกใช้บริการมากยิ่งขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-09-17