การพัฒนาชุดนิทานพื้นบ้านของจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
คำสำคัญ:
ชุดนิทานพื้นบ้านของจังหวัดกาญจนบุรี, ทักษะการอ่านจับใจความ, การเห็นคุณค่าวรรณกรรมพื้นบ้านบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพชุดนิทานพื้นบ้านของจังหวัดกาญจนบุรี 2) ประเมินประสิทธิผลการใช้ชุดนิทานพื้นบ้านของจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ ทักษะการอ่านจับใจความ และการเห็นคุณค่าวรรณกรรมพื้นบ้าน ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนบ้านแหลมทอง ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 1 จำนวน 15 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบง่ายโดยใช้โรงเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นิทานพื้นบ้านของจังหวัดกาญจนบุรี แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนมีค่าความเที่ยงตรง เชิงเนื้อหาอยู่ระหว่าง 0.67- 1.00 มีค่าความยากง่าย 0.31- 0.63 ค่าอำนาจจำแนก 0.37- 0.60 ค่าความเชื่อมั่น 0.78 และแบบสัมภาษณ์การเห็นคุณค่าวรรณกรรมพื้นบ้านค่าดัชนีความสอดคล้อง มีค่าเท่ากับ 1.00 การวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบแบบที และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า 1) ชุดนิทานพื้นบ้านของจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ประกอบด้วย ชุดนิทานพื้นบ้าน 4 ชุด 12 เรื่อง มีค่าประสิทธิภาพ 82.46/84.80 2) ประสิทธิผลของการใช้ชุดนิทานพื้นบ้านของจังหวัดกาญจนบุรี ในด้านทักษะการอ่านจับใจความ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และด้านการคุณค่าวรรณกรรมพื้นบ้าน หลังการใช้ชุดนิทานพื้นบ้านของจังหวัดกาญจนบุรี นิทานพื้นบ้านมีคุณค่าให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน เสริมสร้างสติปัญญา และให้แง่คิด คติธรรม ที่นำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นปกติสุข