แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการส่งออก กรณีศึกษา กลุ่มผ้าไหมทอมือบ้านสุขสำราญ จังหวัดสระแก้ว

ผู้แต่ง

  • อัจจิมา ศุภจริยาวัตร มหาวิทยาลัยบูรพา

คำสำคัญ:

การพัฒนา,ผลิตภัณฑ์ชุมชน,บรรจุภัณฑ์

บทคัดย่อ

          การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและศักยภาพของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน กลุ่มผ้าไหมทอมือบ้านสุขสำราญ และเพื่อผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มผ้าไหมทอมือบ้านสุขสำราญ ให้เกิดการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มโอกาสทางการตลาดในต่างประเทศ  โดยผู้วิจัยมุ่งศึกษาปัญหาและศักยภาพของผู้ผลิตเพื่อการต่อยอดทางการตลาดและการขายสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้วิธีการดำเนินงานวิจัยจึงเป็นแบบงานวิจัยเพื่อการพัฒนา ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้  ศึกษาข้อมูลเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสรุปกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพและความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการวิจัย กระบวนการการเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน และวิเคราะห์และสรุปผลทางสถิติเพื่อประเมินความพึงพอใจ ตามลำดับ ผู้วิจัยได้ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและศึกษาความพึงพอใจหลังจากที่ได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผ้าไหมทอมือ โดยมีกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย กลุ่ม/ชุมชนผู้ผลิตสินค้าประจำท้องถิ่นที่เข้าเกณฑ์การพิจารณาศักยภาพ จำนวน 34 กลุ่ม และนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 400 คน

          ผลการวิจัยพบว่า ความพึงพอใจของผู้บริโภคชาวต่างชาติที่มีต่อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผ้าไหมทอมือบ้านสุขสำราญเพื่อขยายตลาดสู่ลูกค้าต่างประเทศ พบว่าด้านการใช้งานและด้านการตลาด ในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ด้านการใช้งานสินค้ามีรูปแบบสวยงามมีเอกลักษณ์อยู่ในระดับมากที่สุด บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบใหม่นี้มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และด้านการตอบสนองต่อความต้องการด้านการแต่งกายของลูกค้าชาวต่างชาตินั้นอยู่ในระดับสูงมาก โดยสรุปได้ว่าแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนควรได้รับการกำหนดให้เหมาะสมกับวิถีของชุมชน รวมทั้งการดำเนินธุรกิจวัฒนธรรมและศักยภาพเฉพาะตัวของวิสาหกิจชุมชนในแต่ละกลุ่ม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-02-15