รูปแบบการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส

ผู้แต่ง

  • วิทวัต ปัญจมะวัต สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

คำสำคัญ:

รูปแบบ/ โครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส/ โรงเรียนพระดาบส

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพและแนวทางการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส 2) สังเคราะห์องค์ประกอบของการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการ 3) พัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการ และ 4) จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 18 คน ครูผู้สอน จำนวน 46 คน ครูอาสาสมัคร จำนวน 19 คน ผู้เรียน จำนวน 75 คน และผู้แทนสถานประกอบการ จำนวน 31 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 189 คน นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมยกร่างรูปแบบ จำนวน 18 คน ตรวจสอบ    ความเหมาะสมของรูปแบบ ด้วยการสนทนากลุ่ม จำนวน 12 คน และประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ของรูปแบบด้วยแบบประเมิน จำนวน 20 คน ทดลองใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้นในปีการศึกษา 2562 กับสถานศึกษานำร่อง จำนวน 5 แห่ง และนำรูปแบบที่พัฒนาขึ้นไปใช้จริงในสถานศึกษานำร่องทุกสถานศึกษา จำนวน 12 แห่ง ในปีการศึกษา 2563 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ ประเด็นการสนทนากลุ่ม และแบบประเมิน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

              ผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียน       พระดาบส โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง และแนวทางการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการ ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) 1) ควรมีคณะกรรมการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการ 2) ควรกำหนดนโยบายและวิธีการคัดเลือกผู้เรียน 3) ควรจัดระบบการบริหารจัดการของงานปกครองผู้เรียน และ 4) ควรจัดระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและอาคารสถานที่ ด้านกระบวนการ (Process) ควรใช้วงจรการควบคุมคุณภาพ (PDCA Cycle) หรือวงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle) ด้านผลผลิต (Output) ควรศึกษาและติดตามผลสำเร็จของการดำเนินงาน และสมรรถนะผู้เรียนด้านคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านความสามารถในการประยุกต์ใช้ 2. องค์ประกอบการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส พบว่า 1) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบย่อย 2) ด้านกระบวนการ (Process) ขับเคลื่อนและขยายผลโครงการด้วยวงจรการควบคุมคุณภาพ (PDCA Cycle) 3) ด้านผลผลิต (Output) ประกอบด้วย สมรรถนะผู้เรียนด้านคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านความสามารถในการประยุกต์ใช้และความรับผิดชอบ 3. รูปแบบการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส องค์ประกอบที่ 1 ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบย่อย  24 ตัวชี้วัด องค์ประกอบที่ 2 ด้านกระบวนการ (Process) ประกอบด้วย 4 ขั้น ตามวงจรการควบคุมคุณภาพ PDCA (PDCA Cycle) องค์ประกอบที่ 3 ด้านผลผลิต (Output) ประกอบด้วย 5 ตัวชี้วัด และผลการตรวจสอบและประเมินรูปแบบ มี    ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด ผลการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า ความสำเร็จและ  ความพึงพอใจที่มีต่อโครงการสำหรับนำรูปแบบสู่การปฏิบัติ ทั้ง 3 โครงการ ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก และผล   การนำรูปแบบสู่การปฏิบัติจริง พบว่า 1) สมรรถนะผู้เรียนด้านคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านความสามารถในการประยุกต์ใช้และความรับผิดชอบ โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก 2) ร้อยละของผู้เรียนที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ คิดเป็นร้อยละ 96.64 และผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษามีงานทำและประกอบอาชีพอิสระประสบความสำเร็จ ร้อยละ 100 3) ความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการ ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด 4. ผลการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการ พบว่า ควรสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา โดยยกระดับการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส เพื่อให้เยาวชนและประชาชนที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา จะได้มีทักษะวิชาชีพ    ติดตัว สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ และควรขยายผลโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส เพิ่มขึ้นเป็น 30 แห่ง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-02-14