ศึกษาวิธีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในสถานประกอบการสำหรับอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้มีคุณลักษณะตามความต้องการ:กรณีศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ผู้แต่ง

  • ขวัญชิดา กระชั้น มหาวิทยาลัยบูรพา
  • ศุภสิทธิ์ เลิศบัวสิน มหาวิทยาลัยบูรพา
  • ธีทัต ตรีศิริโชติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

คำสำคัญ:

คุณลักษณะ, แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ, เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

บทคัดย่อ

          งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในสถานประกอบการสำหรับอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีคุณลักษณะตามความต้องการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัย คือ สถานประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 15 สถานประกอบการ ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ โดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง

          ผลการวิจัย พบว่า (1) ด้านความรู้ในการปฏิบัติงานที่จำเป็น ใช้วิธีการสอนงาน ด้วยการสอนวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้อง เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้ทราบถึงขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้อง ขั้นตอนกระบวนการผลิต รูปแบบการใช้วัตถุดิบต่าง ๆ ลงไปในเครื่องจักร การคิดวิเคราะห์ปัญหา พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขเบื้องต้น (2) ด้านความสามารถในการปฏิบัติงานที่รับผิดชอบ ใช้วิธีการฝึกงานในสถานการณ์จริง รวมถึงให้มีการสอนงานและให้ทดลองปฏิบัติงานในสถานที่จริง เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเกิดความคุ้นเคยกับสภาวะแวดล้อม และสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว (3) ด้านความประพฤติที่ดี ใช้วิธีบอกกล่าวด้วยการบรรยาย โดยบอกให้แรงงานต่างด้าวปฏิบัติงานให้ดีได้ โดยไม่ต้องมีคนคอยควบคุมหรือตรวจตราอยู่ตลอดเวลา มีความรับผิดชอบ แยกแยะระหว่างเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน (4) ด้านสุขภาพที่ดี ใช้วิธีการแสดง การจำลองสถานการณ์ให้แรงงานต่างด้าวเห็นถึงวิธีการต่าง ๆ เช่น การรักษาสุขนิสัยส่วนบุคคล ให้สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมและแต่งกายสุภาพเรียบร้อย สามารถปฏิบัติงานได้ภายใต้ภาวะความเครียดได้ดี (5) ด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น ใช้วิธีการแสดงบทบาทสมมติ ด้วยการจัดให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ารับการฝึกอบรมแสดงบทบาทตามเรื่องราวที่สมมติขึ้นให้เหมือนอยู่กับสถานการณ์จริง เพื่อให้แรงงานต่างด้าวมีความพร้อมและสามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ (6) ด้านทักษะในการสื่อสาร ใช้วิธีการระบบพี่เลี้ยง ซึ่งให้แรงงานต่างด้าวที่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน สื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมงาน รวมทั้ง สร้างระบบพี่เลี้ยง/buddy ช่วยเหลือแนะนำ พร้อมทั้งกำหนดให้มีการประเมินการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง (7) ด้านทักษะอื่น ๆ ใช้วิธีการศึกษาดูงาน โดยให้แรงงานต่างด้าวได้เห็นถึงวิธีการปฏิบัติงาน ที่แรงงานต่างด้าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานของตนเอง และมีความสามารถในการปรับตัว/สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-28