ผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ: กรณีศึกษานายอานันท์ ปันยารชุน
คำสำคัญ:
ผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ, นายอานันท์ ปันยารชุน, ความเป็นผู้นำบทคัดย่อ
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชีวประวัตินายอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ (Wise Leadership) ตามแนวคิด The Six Abilities of Phronesis Leaders ของอิกูจิโร โนนากะ และฮิโรทากะ ทาเคะอุชิ โดยใช้วิธีการวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์กึ่งมีโครงสร้าง เพื่อพัฒนาตัวแบบของการศึกษาผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติและพัฒนาเป็นคู่มือการเรียนการสอน (teaching notes) เรื่องภาวะผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทสังคมไทย
ผลการศึกษาพบว่านายอานันท์ ปันยารชุน มีคุณลักษณะเป็นผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ มีความสามารถในการคิดและตัดสินใจเพื่อสร้างสิ่งที่ดีแก่องค์กรและสังคม มีความสามารถเข้าใจสาระสำคัญของสถานการณ์ และสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน มีความสามารถในการสร้างพื้นที่และความร่วมมือที่เอื้อให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ มีความสามารถในการสื่อสารถึงสาระสำคัญของสถานการณ์และสิ่งต่าง ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจ มีความสามารถในการบริหารจัดการอำนาจเพื่อขับเคลื่อนให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้ และมีความสามารถในการสร้างความเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีปัญญาเชิงปฏิบัติ นอกจากนี้ยังพบว่า นายอานันท์ ปันยารชุน มีคุณลักษณะของความเป็นผู้นำ (The leader) ปรากฎในการวิจัยถึง 9 ลักษณะ ได้แก่การมีวิสัยทัศน์ (Vision) ความตรงไปตรงมา (Frankness) การทำงานโดยมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ (Result oriented) การกล้าตัดสินใจ (decisiveness) การประนีประนอม (Compromise) ความมีสปิริตแห่งการทำงานเป็นทีม (Team spirit) มีภาวะผู้นำ (Leadership) มีความโปร่งใส (Transparency) และมียุทธวิธี (Strategy)