บทบรรณาธิการ
บทบรรณาธิการ
บทคัดย่อ
ความสำคัญของนวัตกรรมพลิกผัน และนวัตกรพลิกผัน
คำว่า นวัตกรรมพลิกผัน มาจากภาษาอังกฤษว่า Disruptive innovation ซึ่งเป็นคำที่ Clayton M. Christensen เริ่มใช้ในปี 1995 จนกลายเป็นแนวคิดทางธุรกิจที่มีอิทธิพลมากที่สุดในต้นศตวรรษที่ 21 (www.christenseninstitute.org)
นวัตกรรมพลิกผัน คือ นวัตกรรมที่ทำให้เกิดตลาดใหม่ทดแทนหรือพลิกผันตลาดเดิมอย่างฉับพลันพร้อมกับการเกิดค่านิยมใหม่
นวัตกรรมพลิกผัน ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีเลิศอย่างเดียว แต่ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่คนจำนวนมากสามารถใช้หรือเข้าถึงได้ (more accessible) และสามารถเป็นเจ้าของได้ (affordable)
ตัวอย่างของนวัตกรรมที่ไม่ใช่นวัตกรรมพลิกผันคือ รถยนต์รุ่นแรก ๆ ของโลก เพราะคนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของได้ เนื่องจากราคาแพงมาก จึงไม่สามารถทดแทนหรือพลิกผันตลาดยานพาหนะเดิมคือรถม้าได้ แต่รถยนต์รุ่นหลังจนถึงรุ่นปัจจุบัน เป็นนวัตกรรมพลิกผัน เนื่องจากสามารถทดแทนตลาดรถม้าเดิมได้
นวัตกรรมพลิกผันจึงมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจ การผลิต และกิจการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน
กิจการใดที่ไม่ลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมพลิกผัน จะมีความเสี่ยงคือถูกพลิกผันด้วยนวัตกรรมพลิกผันจากภายนอกกิจการหรือภายนอกประเทศ
กิจการที่อยู่รอดได้ จำเป็นต้องสร้างสรรค์ “นวัตกรรมพลิกผัน”
ดังนั้น ระบบการศึกษาและสถานศึกษา จึงควรให้ความสำคัญกับการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมพลิกผันหรือทำให้ผู้เรียนมีความเป็น “นวัตกรพลิกผัน”
คำว่า นวัตกรพลิกผัน มาจากภาษาอังกฤษว่า Disruptive innovator ซึ่งเป็นคำที่ Jeff Dyer, Hal Gregersen และ Clayton M. Christensen ใช้ในหนังสือชื่อ The Innovator’s DNA: Mastering The Five Skills Of Disruptive Innovators ในปี 2019
นวัตกรพลิกผัน คือ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมพลิกผันที่ทำให้เกิดตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิม พร้อมกับการเกิดค่านิยมใหม่
นวัตกรพลิกผันจึงมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจ การผลิตและกิจการทุกภาคส่วน เช่นเดียวกับความสำคัญของนวัตกรรมพลิกผัน
กิจการที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมพลิกผันได้จำเป็นต้องมี “นวัตกรพลิกผัน”