วัตถุประสงค์
      เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเป็นแหล่งข้อมูลในการเผยแพร่ผลงานวิจัยและบทความวิชาการให้กับคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และผู้สนใจ รวมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ที่หลากหลาย ช่วยยกระดับผลงานวิชาการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ ทั้งนี้วารสารเปิดรับบทความด้านพระพุทธศาสนา ศาสนาและปรัชญา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ พุทธบริหารการศึกษา การวิจัยนวัตกรรมเชิงพุทธ รวมทั้งสหวิทยาการเชิงประยุกต์ด้านมนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์เชิงพุทธ

ประเภทบทความที่รับพิจารณาตีพิมพ์ 
ประกอบไปด้วย
(1) บทความวิจัย (2) บทความวิชาการ (3) การแปลบทความภาษาต่างประเทศ และ (4) บทความพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ
      บทความจากผู้เขียนทั้งภายในและภายนอก จะได้รับการตรวจและประเมินในแบบ Double Blinded

วารสารธรรมธารา ตีพิมพ์ปีละ 2 ฉบับ
ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน                                     
ฉบับที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม

คำแนะนำสำหรับผู้เขียน 
หลักเกณฑ์การอ้างอิงของวารสารธรรมธารา คลิกเพื่ออ่าน
ตัวอย่างแบบฟอร์มการจัดหน้าบทความ [.word] [.pdf]
ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม [download]

ISSN 2408-1892 (Print) 
ISSN 2651-2262 (Online)

-ประกาศวารสารธรรมธารา- เรื่อง การปรับเพิ่มจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบคุณภาพบทความ

2021-08-04

ประกาศเปลี่ยน_peer_720.jpg

 

-ประกาศวารสารธรรมธารา-
เรื่อง การปรับเพิ่มจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบคุณภาพบทความ
.
ตามประกาศ ก.พ.อ. ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 มีการตรวจสอบคุณภาพของบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบบทความ (peer reviewer) ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจากหลากหลายสถาบันอย่างน้อย 3 คน
.
วารสารธรรมธาราได้ตอบรับการประกาศดังกล่าว จึงขอปรับเพิ่มจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบบทความ "เป็น 3 ท่าน" เริ่มตั้งแต่ ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (ฉบับรวมที่ 14) มกราคม-มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
.
ประกาศเมื่อ วันที่ 1 สิงหาคม 2564

========
สามารถติดตามอ่านบทความและสอบถามรายละเอียดการส่งบทความได้ที่
www.dhammadhara.org หรือ โทร. 095-665-5355 และ 081-989-4191

ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (2024): (ฉบับรวมที่ 19) กรกฎาคม - ธันวาคม

วารสารธรรมธารา ฉบับที่ 19 มีบทความ 5 เรื่อง ดังนี้

1. บทความวิจัยเรื่อง “อิทธิพลอักษรขอมไทยและอักษรไทย ในเอกสารใบลานวัดหนองหลัก จังหวัดอุบลราชธานี” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุญชู ภูศรี และคณะ ได้ศึกษาเอกสารใบลานวัดหนองหลัก จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีทั้งที่จารด้วยอักษรธรรมและอักษรขอมไทยในส่วนบันทึกท้ายคัมภีร์ พบว่า  ได้รับอิทธิพลจากอักษรขอมไทยและอักษรไทยอย่างชัดเจน เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสภาวะแวดล้อมทางการเมือง การปกครอง ชุมชน ที่มีผลต่อการจารจารึกคัมภีร์ 

2. บทความวิจัยเรื่อง “จาตุรงคสันนิบาต: วิเคราะห์เหตุการณ์จาตุรงค-สันนิบาตในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไลพร สุจริตธรรมกุล และคณะ ได้ศึกษาเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตในวันมาฆบูชา จากเนื้อหาในคัมภีร์อรรถกถามัชฌิมนิกาย ทีฆนขสูตร กับคัมภีร์อรรถกถาทีฆนิกาย มหาปทานสูตร เปรียบเทียบกับเนื้อหาของคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก ทีฆนิกาย มหาปทานสูตร พบว่า มีความสอดคล้องกัน ยืนยันการเกิดขึ้นจริงของเหตุการณ์นี้ในยุคต้นพุทธกาล

3. บทความวิจัย เรื่อง “การสืบทอดพระไตรปิฎกใบลานอักษรธรรม คัมภีร์พระวินัยปิฎก ปาราชิกกัณฑ์” ของ ดร. สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล ได้นำคัมภีร์ใบลานอักษรธรรม พระวินัยปิฎก ปาราชิกกัณฑ์ จำนวน 29 ชุด มาศึกษาเปรียบเทียบข้อความขึ้นต้นของเนื้อหาแต่ละบท ข้อความขึ้นต้นและลงท้ายของคัมภีร์ใบลานแต่ละชุด รวมถึงข้อมูลจากบันทึกท้ายคัมภีร์ใบลาน พบว่า สามารถจัดแบ่งกลุ่มคัมภีร์ใบลานเหล่านี้ออกเป็น 5 กลุ่มย่อย ซึ่งแต่ละกลุ่มย่อยมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ทำให้เห็นร่องรอยการสืบทอดจารคัดลอกคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมในอาณาจักรล้านนาและล้านช้างได้ชัดเจนขึ้น

4. บทความวิจัย เรื่อง “เสียง: เครื่องมือสู่สติและสมาธิ” ของ นางสาวศุภร บุญญลาภา ได้ศึกษาพบว่า เสียงสามารถเป็นเครื่องมือนำไปสู่สติและสมาธิได้ ดังที่สายปฏิบัติต่าง ๆ ก็มักมีคำบริกรรมภาวนาโดยใช้คำต่าง ๆ กัน ถือเป็นการวิจัยที่น่าสนใจอันหนึ่ง

5. บทความ เรื่อง “มหาไวปุลย พุทธาวตังสกสูตร สุวรรณสิงห์ปริเฉท: บทแปลพากย์ไทยเชิงปรัชญา และกรอบใหม่ในการเข้าใจอวตังสกะ” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ ศศิภานุเดช ได้แปลคัมภีร์ดังกล่าวจากพากย์จีนเป็นไทย พร้อมวิเคราะห์แนวคิดของอวตังสกะ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง “ศูนยตา” ทำให้เข้าใจแนวคิดทางปรัชญาของอวตังสกะ ซึ่งเป็นนิกายสำคัญนิกายหนึ่งของมหายานได้ดีขึ้น 

ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากผู้คนจำนวนไม่น้อยว่า เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน ในการที่จะเป็นได้จริงดังคำยกย่องดังกล่าว มีความจำเป็นต้องยกระดับการศึกษาวิจัยทางพุทธศาสตร์ของไทยให้สูงขึ้นสู่มาตรฐานวิชาการระดับโลก ทั้งในการวิจัยพระพุทธศาสนาเถรวาท ตลอดจนถึงแนวคิดของพุทธนิกายอื่น ๆ ด้วย ซึ่งวารสารธรรมธาราตั้งใจทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง สนับสนุนการเผยแพร่การศึกษาวิจัยทางพุทธศาสตร์ที่มีคุณภาพอย่างเต็มที่ หวังว่า จะได้รับการสนับสนุน คำแนะนำที่ดีจากท่านผู้อ่านและท่านผู้รู้ทั้งหลายเช่นเคย


พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
(สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
20 กรกฎาคม 2567
วันอาสาฬหบูชา

เผยแพร่แล้ว: 2024-07-31

ดูทุกฉบับ