ในวารสารธรรมธาราฉบับนี้ ท่านผู้อ่านจะได้พบกับบทความต่างๆ ดังนี้

         บทความวิจัยเรื่อง “การกำเนิดและพัฒนาการของคัมภีร์พระไตรปิฎก” ของ นายสุทัศน์ อร่ามรัตน์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ประเวศ อินทองปาน ทำให้ได้ความรู้เรื่องกำเนิดพระไตรปิฎก ความเป็นไปได้ของคัมภีร์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่คราวสังคายนาครั้งที่ 1 และคัมภีร์ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในภายหลัง เป็นบทความที่อ่านได้เพลิดเพลินและได้ความรู้ที่น่าสนใจมาก

         บทความวิชาการ เรื่อง “จาตุรงคสันนิบาต (1): ที่มาของพุทธประเพณีมาฆบูชาในสังคมไทย” ของ นายพงษ์ศิริ ยอดสา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไลพร สุจริตธรรมกุล ได้วิเคราะห์ถึงประเพณีวันมาฆบูชา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ทรงริเริ่มขึ้น จนแพร่หลายไปทั้งประเทศ เป็นเอกลักษณ์ของชาวพุทธในไทย ซึ่งไม่มีในประเทศอื่น ว่ามีที่มาอ้างอิงได้จากอรรถกถามัชฌิมนิกาย ทีฆนขสูตร และอรรถกถาทีฆนิกาย มหาปทานสูตร ซึ่งเนื้อหาหลักสอดคล้องกัน แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้าง

         บทความวิจัยเรื่อง “จารึกรอยพุทธบาทจากอานธรประเทศ: หลักฐานพุทธศาสนานิกายวิภัชชวาท” ของ ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์ ได้ศึกษารอยพุทธบาทจากอานธรประเทศ ของประเทศอินเดียอย่างละเอียดทั้งในด้านลักษณะตัวอักษร ภาษา วัสดุที่ใช้ในการจัดสร้าง สถานที่พบ เนื้อหาข้อความจารึก และได้พบว่า จารึกรอยพุทธบาทนี้แสดงถึงหลักฐานของพุทธศาสนานิกายวิภัชชวาท ที่ต่อมาพัฒนาเป็นเถรวาท และแสดงถึงความสัมพันธ์กับสำนักมหาวิหารของประเทศศรีลังกา และมีความเชื่อมโยงกับรอยพุทธบาทคู่และลวดลายศิลปะอมราวดี ที่อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี

         บทความวิชาการเรื่อง “ปราสาทนกหัสดีลิงค์: รูปสัญญะแห่งความหมายและแหล่งที่มาจากคัมภีร์และวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา” ของ ดร.สุรชัย พุดชู ได้ศึกษาความเป็นมาและอิทธิพลของปราสาทนกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นนกขนาดใหญ่ มีกำลังเท่ากับช้าง 5 เชือก มีชื่อปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาหลายแห่ง บางคราวคาบคนไปแต่ไม่มีเจตนาทำร้าย ต่อมามีการพัฒนาการกลายเป็นจิตรกรรมและประติมากรรม การสร้างเป็นเมรุปราสาท เป็นสัญลักษณ์การอัญเชิญผู้ตายไปสู่สุคติภูมิ

         บทความวิจัยเรื่อง “การเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนบ้านกัลยาณมิตรด้วยหลักพุทธธรรม” ของนางสาวอรุณี สุเจตนันท์ ได้ศึกษาวิจัยโครงการบ้านกัลยาณมิตรของวัดพระธรรมกาย ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 และขยายตัวไปอย่างรวดเร็วนับแสนครัวเรือน ว่าใช้องค์ความรู้หลักธรรมใดจากพระไตรปิฎก และพบว่า โครงการฯได้สร้างชุมชนบ้านกัลยาณมิตรที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืนใน 3 ด้าน คือ ด้านวัฒนธรรม ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ คือ ผู้นำที่เข้มแข็งเป็นที่ยอมรับของชุมชน

         หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ความรู้ แง่คิด และความเพลิดเพลินเช่นเคย

พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
14 กรกฎาคม 2565          
วันเข้าพรรษา

เผยแพร่แล้ว: 2022-07-22