ในวารสารธรรมธาราฉบับนี้ มีบทความที่น่าสนใจดังนี้

บทความแปลภาษาต่างประเทศ เรื่อง “จารึกภาษาอินโด-อารยันยุคกลาง: ภาพรวมและการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา” ของ คุณอรุโณทัย อ่อนพุ่ม และดร. ชาคริต แหลมม่วง ได้แปลถอดใจความจากตอนหนึ่งของหนังสือภาษาเยอรมันเล่มหนึ่งของ Oskar von Hinüber ปราชญ์ด้านภารตวิทยาที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการทั่วโลก ซึ่งได้รวบรวมศึกษาจารึกภาษาอินโด-อารยันยุคกลางอย่างกว้างขวางทั้งจารึกในแผ่นศิลา เสาหิน แผ่นทองแดง เปลือกไม้ แผ่นไม้ เหรียญ ตราประทับ และแนะนำชื่อเอกสารที่ผู้สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้แทรกอยู่ตลอดเล่ม เป็นตัวอย่างการศึกษาจารึกโบราณที่มีมาตรฐานสูง เป็นการขยายมุมมองการวิจัย ซึ่งในประเทศไทยที่ผ่านมามักศึกษาเพียงจารึกของพระเจ้าอโศกเป็นหลัก นอกจากนี้ผู้แปลยังได้ประมวลสรุปเนื้อหาและให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์หลายประการ ถือเป็นตัวอย่างงานแปลทางวิชาการที่ดี ทำให้นักวิชาการด้านนี้ที่ไม่รู้ภาษาเยอรมันสามารถเข้าถึงเนื้อหาและรูปแบบงานวิจัยระดับ masterpiece ได้

บทความวิจัย เรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์บันทึกท้ายคัมภีร์ใบลานอักษรธรรม วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร” ของ พระมหานันทวัฒน์ ธมฺมนนฺโท และดร. ภัทธิดา แรงทน ได้ศึกษาบันทึกท้ายคัมภีร์ใบลานอักษรธรรม จำนวนถึง 93 ฉบับ โดยศึกษาในประเด็นผู้สร้างคัมภีร์ ความปรารถนาของผู้สร้าง สถานที่สร้าง เป็นต้น ทำให้เห็นแนวโน้มโดยภาพรวมของการสร้างคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมอีสาน

บทความวิจัย เรื่อง “พระกาศยปะ-มาตังคะ: คำแปลและอรรถาธิบายชีวประวัติในคัมภีร์เกาเซิงจ้วน” ของ ดร. เมธี พิทักษ์ธีระธรรมและคณะ ได้แปลชีวประวัติของพระกาศยปะ-มาตังคะ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นพระภิกษุชาวอินเดียรูปแรกที่เดินทางสู่ประเทศจีน ผู้วิจัยไม่เพียงแปลเท่านั้นแต่ยังได้วิเคราะห์การใช้คำในต้นฉบับภาษาจีนอย่างละเอียด มีการอ้างอิงเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบการวิเคราะห์อย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้อ่านได้ความรู้ถึงแนวทางการศึกษาวิเคราะห์คัมภีร์โบราณในพากย์จีนได้อย่างดี ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงการศึกษาพุทธศาสนาแบบวิชาการของไทย

บทความวิจัย เรื่อง “การบูรณาการพระพุทธศาสนาเพื่อสร้างคุณค่าตามคติสุวรรณภูมิ กรณีวัดพระปฐมเจดีย์” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมบูรณ์ วัฒนะและคณะ ได้ศึกษาวิจัยพระปฐมเจดีย์จากจุดเริ่มต้นในประวัติศาสตร์มาจนถึงบทบาทของวัดพระปฐมเจดีย์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อชุมชน ทั้งระดับจังหวัดและระดับภาค ทั้งด้านการปกครองคณะสงฆ์ การศึกษา และความสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบ

บทความวิชาการ เรื่อง “ใบลานเรื่อง “สมันตกูฏวัณณนา” ฉบับรดน้ำแดง รัชกาลที่ 2: การศึกษาต้นฉบับ และทบทวนกับฉบับพิมพ์ของสมาคมบาลีปกรณ์ (Pāli Text Society)” ของ พระมหากวีศักดิ์ วาปีกุลเศรษฐ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัชพล ศิริสวัสดิ์ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของต้นฉบับคัมภีร์ใบลานที่จะช่วยสันนิษฐานคำที่น่าจะถูกต้องให้แก่ฉบับพิมพ์ได้ในบางกรณี ดังนั้นแม้จะมีคัมภีร์พระพุทธศาสนาพิมพ์เผยแพร่แล้วจำนวนมาก แต่การศึกษาคัมภีร์ใบลานก็ยังคงมีความจำเป็น

จะเห็นได้ว่า บทความส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปในด้านการศึกษาวิจัยเชิงคัมภีร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่วงวิชาการพุทธศาสตร์ในประเทศไทยยังขาดแคลนอยู่มาก ซึ่งเราหวังว่า จะเป็นกำลังหนึ่งในการยกระดับมาตรฐานทางวิชาการด้านนี้ของประเทศไทย

พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
(สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
1 มกราคม 2566
วันขึ้นปีใหม่

เผยแพร่แล้ว: 2023-01-31

พระกาศยปะ-มาตังคะ: คำแปลและอรรถาธิบายชีวประวัติในคัมภีร์เกาเซิงจ้วน

เมธี พิทักษ์ธีระธรรม, ประภากร พนัสดิษฐ์, วิไลพร สุจริตธรรมกุล

36-79

การบูรณาการพระพุทธศาสนาเพื่อสร้างคุณค่าตามคติสุวรรณภูมิ กรณีวัดพระปฐมเจดีย์

สมบูรณ์ วัฒนะ, เริงวิชญ์ นิลโคตร, ประยูร สุยะใจ, สุวิญ รักสัตย์

80-111