พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) เป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีผลงานวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาที่โดดเด่นมากในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหนังสือภูมิวิลาสินี, วิมุตติรัตนมาลี และกรรมทีปนี ที่ท่านประพันธ์ขึ้น มีเนื้อหาที่น่าสนใจมากและมีสำนวนที่ไพเราะสละสลวยจนได้รับรางวัลชนะเลิศวรรณกรรมสาขาศาสนาจากธนาคารกรุงเทพ ตัวบรรณาธิการก็ได้ใช้หนังสือเหล่านี้เป็นข้อมูลในการศึกษาและแสดงพระธรรมเทศนาตั้งแต่อุปสมบทได้พรรษาแรกเมื่อ 38 ปีก่อน น่าเสียดายที่ปัจจุบันบทประพันธ์ของท่านซึ่งถือเป็นวรรณกรรมเพชรน้ำเอกในพระพุทธศาสนาไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก อาจเป็นเพราะผู้คนในยุคปัจจุบันมีช่องทางที่สื่อและข้อมูลต่าง ๆ ถาโถมเข้าหาตัวมากมาย

        บทความวิจัยเรื่อง “งานนิพนธ์พระพุทธศาสนาของพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร)” ของพระมหาอนุกูล เงางาม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพรนุช ตันศรีสุข ได้ทำการศึกษางานนิพนธ์ของพระพรหมโมลีโดยภาพรวม เสมือนหนึ่งเป็นการปัดฝุ่นออกจากเพชรน้ำเอกนี้ หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจผลงานของท่านกันอีกครั้ง

        บทความวิจัยเรื่อง “คัมภีร์ใบลานยุคพระเจ้ากาวิละ: กรณีศึกษาจากบันทึกท้ายคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนา สำรวจพบ ณ วัดดวงดี อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่” ของพระอัมรินทร์ สนฺติธมฺโม และคณะ ได้ศึกษาบันทึกท้ายคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนาที่สร้างขึ้นในยุคของพระเจ้ากาวิละ (พ.ศ. 2317-2358) จำนวน 8 ฉบับ ทั้งช่วงเวลาของการจารใบลาน สถานที่จาร ชื่อผู้ที่มีส่วนร่วมในการจาร รวมถึงข้อความปรารภของผู้จาร ที่แสดงถึงแรงบันดาลใจ ทำให้เราทราบถึงกระบวนการในการจารคัมภีร์ใบลาน สภาพสังคมเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น และทำให้เข้าใจภาพรวมของกระบวนการสืบทอดคำสอนในพระพุทธศาสนาด้วยการจารใบลานได้ดีขึ้น

        นิตยสารธรรมจักษุเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของประเทศไทย ก่อตั้งโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บทความวิจัยเรื่อง “นิตยสารธรรมจักษุ (พ.ศ. 2437-2454): ความเป็นมาและสารัตถะ” ของ พระมหาสราวุธ โพธิ์ศรีขาม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัชพล ศิริสวัสดิ์ ทำให้เรารู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการจัดทำนิตยสารฉบับนี้ สาระสำคัญของเนื้อหาของนิตยสารและกลวิธีในการเสนอพุทธธรรม อันสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ความเข้าใจต่อพุทธธรรม และวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมซึ่งต้องปรับตัวในกระแสความก้าวหน้าทางวิทยาการจากตะวันตก ที่หลั่งไหลมาสู่ประเทศในขณะนั้น

        บทความวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์ความกตัญญูกตเวทีของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย: การวิจัยเชิงคุณภาพแบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูล” ของ เจนจิรา แวงวรรณ และคณะ ทำให้เข้าใจถึงเงื่อนไขในการสร้างความกตัญญูกตเวทีให้เกิดขึ้นกับเยาวชนได้ดีขึ้น ว่าต้องประกอบด้วยเงื่อนไขทั้งภายนอกและเงื่อนไขภายใน อาทิ การตระหนักรู้คุณค่าของสิ่งที่ได้รับ การตระหนักรู้ในความห่วงใยเอาใจใส่ การตระหนักรู้ในความตั้งใจช่วยเหลือของผู้มีบุญคุณ และการตระหนักรู้ในความเสียสละของผู้มีบุญคุณ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ที่คิดเสริมสร้างคุณธรรมความกตัญญูแก่เยาวชนในยุคปัจจุบัน

        ปัจจุบัน มลภาวะไมโครพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่อยู่ในขั้นวิกฤต เพราะในน้ำดื่มเกือบทุกประเภทที่คนทั้งโลกบริโภคล้วนปนเปื้อนด้วยไมโครพลาสติก ซึ่งจะก่อปัญหาด้านสุขภาพระยะยาว บทความวิชาการเรื่อง “สมาธิร่วมสมัยกับสิ่งแวดล้อม: การแก้ปัญหามลภาวะไมโคร พลาสติกอย่างยั่งยืน” ของ พรพรหม ทิพยมนตรี และคณะ แสดงให้เห็นว่าการทำสมาธิมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เป็นการนำหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาไปใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาจริงในโลก

        บทความวิจัยเรื่อง “การใช้วงจรคุณภาพในการบริหารงานที่ส่งผลต่อการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนในเครือสารสาสน์” ของ ชุติพนธ์ ตู้ธนบัตร และดร.นิพิฐพนธ์ สนิทเหลือ ได้ศึกษาการใช้วงจรคุณภาพ PDCA ในการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนในเครือสารสาสน์ รวมถึงการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมกับวงจรคุณภาพ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพแบบการวิจัยภาคสนาม ทำให้เข้าใจกระบวนการบริหารและพัฒนางานวิชาการให้แระสบความสำเร็จ อันเป็นพื้นฐานสำคัญให้โรงเรียนในเครือสารสาสน์สามารถขยายเครือข่ายไปถึง 49 โรงเรียนในท่ามกลางวิกฤตขาดแคลนนักเรียนของโรงเรียนทั่วประเทศ

        หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้ความรู้ แง่คิด และความเพลิดเพลินในการอ่านเช่นเคย


พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
(สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
2 สิงหาคม 2566
วันเข้าพรรษา

เผยแพร่แล้ว: 2023-08-17

งานนิพนธ์พระพุทธศาสนาของพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร)

พระมหาอนุกูล เงางาม, สมพรนุช ตันศรีสุข

38-74

นิตยสารธรรมจักษุ (พ.ศ. 2437-2454): ความเป็นมาและสารัตถะ

พระมหาสราวุธ โพธิ์ศรีขาม, ณัชพล ศิริสวัสดิ์

76-119

สมาธิร่วมสมัยกับสิ่งแวดล้อม: การแก้ปัญหามลภาวะไมโครพลาสติกอย่างยั่งยืน

พรพรหม ทิพยมนตรี, ประเวศ อินทองปาน, บารมี อริยะเลิศเมตตา

192-219