แวดวงวิชาการทางด้านนิติศาสตร์ของสังคมไทยมักให้ความสำคัญกับความรู้เชิงเทคนิค ข้อมูลที่แยกย่อยออกเป็นเฉพาะส่วน ความเชี่ยวชาญที่ลงลึกเฉพาะด้าน ดังที่นักวิชาการอาวุโสผู้ล่วงลับท่านหนึ่งได้เคยกล่าวไว้ว่าเป็นแนวการทำความเข้าใจกฎหมายในแบบ “เห็นพฤกษ์ แต่ไม่เห็นไพร”

          วารสาร CMU Journal of Law and Social Sciences ฉบับ “ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา นักคิด นิติศาสตร์ไทย” มีความมุ่งหมายเพื่อต้องการทบทวน ชวนคิด ตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถานะทางด้านรู้ในด้านต่าง ๆ ในลักษณะที่เป็นภาพกว้างหรือเป็นแนวคิดที่เป็นรากฐานสำคัญ บนฐานของความเชื่อว่าแนวความคิดที่เป็นเสาหลักของแวดวงความรู้ด้านนิติศาสตร์นั้นมีความจำเป็นที่ต้องได้รับความใส่ใจไม่น้อยไปกว่าการให้ความสำคัญต่อลำต้น กิ่ง ก้าน หรือใบไม้แต่ละใบ ซึ่งความรู้ในแบบหลังนี้มีกูรูหรือผู้เชี่ยวชาญอยู่มากล้น ขณะที่บุคคลที่ให้ความสนใจต่อการเพ่งพินิจถึงรากฐานอันเป็นภาพรวมกลับมีอยู่อย่างน้อยนิด

          แน่นอนว่าเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในวารสารฉบับนี้ยังคงห่างไกลจากความรอบด้าน มีเงื่อนไขและข้อจำกัดเป็นจำนวนมากที่ทำให้บทความในวารสารฉบับนี้ไม่อาจครอบคลุมประเด็นอีกหลายส่วนที่มีความสำคัญ เราจึงได้แต่เพียงหวังว่าจะเป็นเพียงการกระตุ้นให้เกิดความสนใจมากขึ้นต่อการทำความเข้าใจกฎหมายในด้านของสถานะทางความรู้ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น

เผยแพร่แล้ว: 2020-12-21