แนวความคิดของรัฐสมัยใหม่โดยเฉพาะในรัฐที่ถือว่าเป็นรัฐฆราวาส (secular state)จะพยายามจัดวางตำแหน่งของอำนาจรัฐและความเชื่อในทางมโนธรรมให้แยกจากกัน โดยถือว่าอำนาจรัฐจะมุ่งให้ความสำคัญกับประเด็นทางด้านโลกย์วิสัย หรือหมายถึงการทำให้ผู้คนกลุ่มต่างๆ สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบเรียบร้อย ส่วนแง่มุมที่เป็นทางด้านโลกุตรธรรม หรือหมายถึงแนวความคิดที่มุ่งไปสู่เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องที่อำนาจรัฐจะไม่เข้าไปกำกับอย่างเข้มงวด หากมีการกำกับอยู่บ้างก็เป็นเพียงการระมัดระวังไม่ให้ความแตกต่างทางด้านความเชื่อเหล่านี้นำไปสู่ความรุนแรงให้บังเกิดขึ้น
แม้อาจเป็นหลักการพื้นฐานสำหรับรัฐสมัยใหม่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีการสร้างชุดความเชื่อบางด้านที่อาจถือได้ว่าเป็น “บาป/บุญ” ในรัฐสมัยใหม่ และดูราวกับว่าเป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธ เช่น การเกณฑ์ทหารด้วยอำนาจบังคับ การบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา หรือการนำเสนอภาพล่อแหลมในทางเพศ เป็นต้น ประเด็นต่างๆ เหล่านี้แม้อาจเกี่ยวข้องกับคุณค่าหรือความดีของแต่ละบุคคล ซึ่งโดยทั่วไปควรต้องเปิดให้ปัจเจกบุคคลสามารถเลือกเส้นทางดังกล่าวได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม จะพบว่ารัฐสมัยใหม่ได้ใช้อำนาจในการสร้างเกณฑ์ที่มีผลต่อการบังคับให้บุคคลต้องกระทำตาม หากบุคคลใดฝ่าฝืนก็อาจต้องได้รับโทษ ซึ่งนับวันก็ดูราวกับอำนาจของการสร้างบาปและบุญในรัฐสมัยใหม่ได้ขยายตัวออกกว้างขวางขึ้น วารสารนิติสังคมศาสตร์ฉบับ บาป บุญ คุณ (และ) รัฐ จึงชวนให้หันกลับมาพิจารณาให้รอบด้านมากขึ้นในประเด็นต่างๆ ดังที่ปรากฏอยู่ในวารสารฉบับนี้
บรรณาธิการ
เผยแพร่แล้ว: 2018-01-09