บทความวิชาการและบทความวิจัยในวารสารธรรมธารา ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (ฉบับรวมที่ 5) ประจำเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2560 มีเนื้อหาและประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

          บทความพิเศษเรื่อง “สถานการณ์พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก” ของท่านศาสตราจารย์ ดร.อุทิส ศิริวรรณ ได้ศึกษาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตก อันมีตัวแบบการเผยแผ่ที่น่าสนใจ ตลอดจนการนำเสนอแนวโน้มและอนาคตพระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก

          บทความพิเศษเรื่อง “กำเนิดนิกายสรวาสติวาท” ของท่านศาสตราจารย์ ดร.มิโตะโมะ   เคนโย ได้ถอดความเป็นภาษาไทย โดยดร.เมธี พิทักษ์ธีระธรรม ซึ่งได้ดำเนินมาถึงตอนที่ 2 แล้ว และ บทความวิชาการเรื่อง “‘มัธยมอาคม’ ฉบับสันสกฤตในชิ้นส่วนคัมภีร์ใบลานที่กาฐมาณฑุ’” ถอดความเป็นภาษาไทย โดยพระมหาพงศักดิ์ ฐานิโย, ดร. บทความทั้งสองนี้นอกจากได้แสดงถึงเนื้อหาทางวิชาการโดยตรงแล้ว ยังจะช่วยให้นักวิชาการพุทธศาสตร์ไทยได้เห็นถึงความก้าวหน้าและแนวทางการศึกษาวิจัยทางพุทธศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างดี

          บทความวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ศัพท์ว่า ‘ปฺรตียฺสมุตฺปาทํ’ ในโศลกประนาฌ (ไหว้ครู) ในคัมภีร์ ‘มูลมัธยมกการิกา’ ของพระนาคารชุน” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ มั่งมีสุขศิริ เป็นการศึกษาด้านคัมภีร์ในเชิงลึกที่น่าสนใจ ซึ่งบทความวิจัยประเภทนี้ยังมีอยู่น้อยมากในวงวิชาการบ้านเรา หวังว่า จะเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิชาการรุ่นใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพงานวิชาการพุทธศาสตร์ของประเทศไทย

          เนื่องจากคัมภีร์พุทธศาสตร์จำนวนมากมีอยู่ในภาษาบาลี สันสกฤต จีน ทิเบต การสร้างผลงานทางวิชาการพุทธศาสตร์ที่มีคุณภาพสูงนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบเนื้อหาในคัมภีร์เหล่านี้ด้วย บทความวิชาการเรื่อง “คัมภีร์มูลมัธยมกการกาแปลไทย (1) : คำแปลโศลกไหว้ครู และอรรถาธิบาย pratityasamutpada ในคัมภีร์ Prasannapada” มีการแปลร่วมกันระหว่างศูนย์สันสกฤต มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย ผศ.ดร.สมบัติ มั่งมีสุขศิริ และ ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา DCI วัดพระธรรมกาย โดย ดร.เมธี พิทักษ์ธีระธรรม อันเป็นผลงานตัวอย่างของการทำงานด้านความร่วมมือโดยใช้ทักษะความเชี่ยวชาญด้านภาษาสันสกฤต ภาษาจีนและภาษาธิเบตเข้าด้วยกันอย่างน่าชื่นชมยิ่ง ก็หวังว่า ประเทศไทยเราจะมีนักวิชาการทางพุทธศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญการอ่านคัมภีร์ต้นฉบับในงานวิชาการต่างๆ เหล่านี้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

          ประเด็นปัญหาเรื่องปีพุทธปรินิพพาน ได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางตลอดระยะเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา ในแวดวงวิชาการทั้งตะวันตกและตะวันออกเพราะปีพุทธปรินิพพาน เป็นหลักไมล์อ้างอิงทางเวลา ในการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคโบราณของอินเดียทั้งหมด บทความวิจัยเรื่อง “ปีพุทธปรินิพพาน (1)” ในฉบับนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หลักฐานจากคัมภีร์บาลีมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ ในการกำหนดปีขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอโศกมหาราช และในฉบับหน้า ภาค (2) ท่านผู้อ่านจะได้คำตอบที่ถือกันว่าปัจจุบันคือ ปีพุทธศักราช 2560 นั้น จากหลักฐานของคัมภีร์บาลี คือ ปี พ.ศ. 2502 (2502 ปี นับจากปีพุทธปรินิพพาน) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แล้ว ปี พ.ศ. 2560 ที่เราใช้กันอยู่มาจากไหน ทำไมจึงมีความผิดพลาดถึง 58 ปี

          คณะบรรณาธิการขอขอบคุณท่านผู้เขียนบทความ คณะผู้ทรงคุณวุฒิและท่านเจ้าภาพผู้สนับสนุนทุกท่าน วารสารธรรมธารามุ่งมั่นตั้งใจจะเป็นกำลังส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาวิจัยพุทธศาสตร์ระดับสูงในประเทศไทย

เผยแพร่แล้ว: 2018-05-02

ปีพุทธปรินิพพาน (1)

พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)

5-44

กำเนิดนิกายสรวาสติวาท (2)

Mitomo Kenyo; เมธี พิทักษ์ธีระธรรม, ดร.

47-77

“มัธยมอาคม” ฉบับสันสกฤตในชิ้นส่วน คัมภีร์ใบลานที่กาฐมาณฑุ

Matsuda Kazunobu; พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย (คงคารัตนรักษ์)

145-171