วารสารธรรมธาราฉบับนี้เนื้อหามีความหลากหลาย บทความเรื่อง “เอรกปัตตนาคราช (1): ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างฉบับบาลีและคัมภีร์อื่นๆ” ของ ชาคริต แหลมม่วง ได้ศึกษาเปรียบเทียบเนื้อหาในเรื่องนี้ของคัมภีร์คู่ขนาน (parallel texts) จากหลายนิกาย ทั้งคัมภีร์บาลี สันสกฤต จีน ทิเบต เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ที่ทำให้เห็นถึงประโยชน์จากการศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์คู่ขนานว่าจะช่วยให้เราเข้าใจเนื้อเรื่องได้ดียิ่งขึ้น แต่ผู้ศึกษาต้องมีความเชี่ยวชาญในภาษาคัมภีร์ทั้งบาลี สันสกฤต จีน ทิเบต
     บทความเรื่อง “การตั้งครรภ์บริสุทธิ์ (ตั้งครรภ์แบบไม่อาศัยเพศ) ในพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์” โดย ดร.พญ. เสริมสุข วิจารณ์สถิตย์ซึ่งเชี่ยวชาญทั้งด้านการแพทย์สมัยใหม่และด้านพระพุทธศาสนา ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่จะเกิดการตั้งครรภ์บริสุทธิ์ดังที่มีการกล่าวไว้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
     “แบบจำลองแนวคิดของการพัฒนาเชิงทวิมิติเพื่อการเข้าถึงความสุขด้วยกระบวนการการตอบสนองทางชีวภาพ (ไบโอฟีดแบค)” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สานุ มหัทธนาดุลย์ และคณะ ได้นำเสนอแนวทางการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มาช่วยในการให้ข้อมูลแบบย้อนกลับ (feedback) อย่างรวดเร็วแม่นยำแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
     บทความแปลเรื่อง พระพุทธศาสนามหายาน: เหตุใดคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงมีความหลากหลาย (2)” ผลงานการเขียนของศาสตราจารย์ ดร. ซาซากิ ชิซุกะ ผู้เชี่ยวชาญพระพุทธศาสนาเถรวาทจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร. ได้ถอดความเป็นภาษาไทย ตอนนี้เป็นตอนที่ 2 ต่อจากตอนแรกในวารสารธรรมธารา ฉบับรวมที่ 10 การปรับเปลี่ยนนิยามของคำว่า “สังฆเภท” ทำให้พระพุทธศาสนายอมรับแนวคิดที่หลากหลาย ตราบใดที่คณะสงฆ์ยังคงทำสังฆกรรมร่วมกัน
     บทความเรื่อง “นรกภูมิในไตรภูมิ-พระมาลัย: ความสัมพันธ์กับคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา” ของ ภัครพล แสงเงิน และ ดร. อุเทน วงศ์สถิตย์ ไตรภูมิเป็นแนวคิดสำคัญที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างมากมาแต่โบราณกาล บทความนี้ได้ศึกษาความสัมพันธ์ด้านเนื้อหาเรื่องนรกภูมิในไตรภูมิพระมาลัย ซึ่งเป็นวรรณกรรมโลกศาสตร์สมัยอยุธยากับเนื้อหาในพระไตรปิฎก คัมภีร์โลกทีปกสาร คัมภีร์โลกบัญญัติ และคัมภีร์จักรวาลทีปนี พบว่าเนื้อหาหลักมีความสอดคล้องกันมีแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด
     หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินจากวารสารธรรมธาราฉบับนี้ตามสมควร


พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
(สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
5 กรกฎาคม 2563
วันอาสาฬหบูชา

เผยแพร่แล้ว: 2020-07-14