วารสารธรรมธาราฉบับนี้ ท่านผู้อ่านจะได้พบกับ

     บทความวิชาการเรื่อง “ระบบการเรียนการสอนกัมมัฏฐานในคัมภีร์วิสุทธิมรรค” ของ พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย, ดร. ซึ่งได้ศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาของคัมภีร์วิสุทธิมรรคอย่างละเอียด และสรุปเป็นระบบการปฏิบัติเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างชัดเจนเข้าใจง่ายหากเข้าใจระบบนี้โดยภาพรวมแล้ว เมื่อไปศึกษารายละเอียดในคัมภีร์วิสุทธิมรรคก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้นมาก เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้สนใจการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นในพระพุทธศาสนา

     บทความแปลเรื่อง “พระพุทธศาสนามหายาน:เหตุใดคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงมีความหลากหลาย (4)” ผลงานการเขียนของศาสตราจารย์ ดร. ซาซากิ ชิซุกะ ซึ่งพระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร. ได้ถอดความเป็นภาษาไทยตอนนี้เป็นตอนที่ 4 ได้อธิบายความแตกต่างกันของแนวคิด “ศูนยตา” ในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับพระพุทธศาสนามหายานยุคต้น

     บทความวิจัยเรื่อง “แนวคิดเรื่องอันตราภพหลังความตายในคัมภีร์อภิธรรมของแต่ละนิกาย (1)” ดร. ประภากร พนัสดิษฐ์ ได้วิเคราะห์เรื่อง “อันตราภพ” คือ สภาวะที่อยู่ระหว่างความตายกับภพภูมิใหม่ที่เหล่าสัตว์จะไปเกิดว่ามีหรือไม่ โดยได้ยกเอาเหตุผล และหลักฐานทางคัมภีร์ของนิกายต่าง ๆ ทั้งที่เห็นว่ามี กับที่เห็นว่าไม่มี มาแสดงให้เข้าใจถึงวิธีคิด วิธีตีความ และวิธีให้เหตุผลของนิกายต่างๆ เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า การศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์ของแต่ละนิกาย ทำให้เรามีความเข้าใจประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้งในทัศนะของทั้งสองฝ่ายได้ชัดเจนมากขึ้น

     บทความวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์เปรียบเทียบสายคัมภีร์พระพุทธศาสนาจีนและบาลีของสิงคาลกสูตร” ของ ดร. วิไลพร สุจริตธรรมกุล ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบเนื้อหาในสิงคาลกสูตรของคัมภีร์บาลีและคัมภีร์จีน รวม 10 ฉบับ พบว่า เนื้อหามีความสอดคล้องกันมากถึง 75% ส่วนที่แตกต่างนั้น มาจากการเรียงลำดับเนื้อหาบางส่วนที่ไม่ตรงกัน และเนื้อหาบางส่วนของบางคัมภีร์ขาดหายไป และเรายังสามารถอาศัยการวิเคราะห์เปรียบเทียบเนื้อหาของคัมภีร์คู่ขนานนี้ ทำให้เห็นร่องรอยของการกำเนิดและการสืบทอดของคัมภีร์นั้น ๆ

     ส่วนบทความวิจัยเรื่อง “พระมหากัจจายนะในเอกสารฉบับต่าง ๆ (1): ทัศนะว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับพระนาลกะ” ของ ชาคริต แหลมม่วง ได้ศึกษาเรื่องราวของพระมหากัจจายนะและพระนาลกะในคัมภีร์ของนิกายต่างๆ ร่วม 10 ฉบับ เพื่อวิเคราะห์ว่าพระเถระทั้ง 2 รูป เป็นบุคคลเดียวกัน หรือเป็นคนละบุคคลเพียงแต่มีชื่อโคตรตระกูลที่เหมือนกันคือ กัจจายนะ และได้ข้อสรุปว่า พระเถระทั้ง 2 ควรจะเป็นคนละบุคคลกัน พร้อมๆ กับการค่อยๆ วิเคราะห์คลี่คลายนำไปสู่ข้อสรุปนี้ ท่านผู้อ่านจะได้เห็นถึงวิธีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากคัมภีร์พุทธหลากนิกาย เพื่อนำไปสู่การไขปัญหาและทำให้มีทัศนะที่กว้างไกลมากขึ้นในการมองประเด็นปัญหาในพระพุทธศาสนา

     หวังว่า ท่านผู้อ่านจะได้ความรู้ ข้อคิด แรงบันดาลใจในการศึกษาวิจัยพระพุทธศาสนา และความเพลิดเพลินจากบทความในวารสารธรรมธาราฉบับนี้ตามสมควร

พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
24 กรกฎาคม 2564
วันอาสาฬหบูชา

เผยแพร่แล้ว: 2021-07-24