การศึกษาเรื่อง “รัฐ” โดยเฉพาะรัฐไทยดูจะกลับมาเป็นที่สนใจเพิ่มมากขึ้นในแวดวงวิชาการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีความพยายามศึกษาและทำความเข้าใจถึงลักษณะของรัฐไทยและสถาบันทางการเมืองในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายถึงรัฐพันลึก, รัฐคู่ขนาน, สถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่าย (Monarchy Network) หรือการเมืองเชิงตุลาการ (Judicialization of Politics) เป็นต้น แนวคิดเหล่านี้ก็นับเป็นตัวอย่างอันดีของปรากฏการณ์ดังกล่าว

            เป็นที่เข้าใจได้ว่าความสนใจเหล่านี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของรัฐทั้งในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นทางการ อุดมการณ์ การใช้อำนาจ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (หรือสถาบันของรัฐ) กับสังคม ที่แสดงให้เห็นความแตกต่างการดำรงอยู่ของรัฐในแบบที่เคยเป็นมาอย่างมีนัยสำคัญ จึงย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะทำให้เกิดการตั้งคำถาม ความพยายามในการอธิบายหรือการโต้แย้งถึงการดำรงอยู่ที่ได้ปรากฏขึ้น และหลายคำถามไม่อาจตอบได้โดยง่ายว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักวิชา เพราะก็มีการผลิตคำตอบในอีกด้านหนึ่งดำเนินควบคู่ไปเช่นกัน

            บทความในวารสารนิติสังคมศาสตร์ ฉบับ “รัฐซ้อน ซ่อนรัฐ” แม้ประเด็นอาจดูกระจัดกระจาย แต่ปมปัญหาร่วมกันประการหนึ่งก็คือ การให้ความสนใจกับรัฐไทยในห้วงเวลาปัจจุบันในแง่มุมที่หลากหลาย ในความสนใจนี้มีทั้งการตั้งคำถาม การพยายามทำความเข้าใจ การโต้แย้ง แม้ว่าทั้งหมดอาจไม่ได้ตอบคำถามโดยตรงถึงการดำรงอยู่ของรัฐไทย แต่ก็เชื่อว่าบทความเหล่านี้อาจช่วยให้สามารถมองเห็นรัฐไทยต่างไปจากที่เคยเป็นความเข้าใจได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจนำไปสู่การปะติดปะต่อภาพของรัฐไทยให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงต้องอยู่ภายใต้อำนาจของสถาบันเหล่านี้ การพยายามทำความเข้าใจก็นับเป็นเรื่องหนึ่งที่อาจมีความจำเป็นอยู่มิใช่หรือ

           

                                                                                                                        บรรณาธิการ

เผยแพร่แล้ว: 2018-12-28