รัฐประหาร พื้นที่ พลเมือง 

อำนาจทางการเมืองมีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างไม่อาจปฏิเสธ ระบบกฎหมายในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองเช่นเดียวกัน

ในสังคมที่ต้องเผชิญกับความผันผวนในระบอบประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง การเหวี่ยงหมุนกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยมก็ได้ส่งผลต่อระบบกฎหมายโดยตรงอย่างชัดเจน โดยอำนาจทางการเมืองได้เข้ามากระทบระบบกฎหมายทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในบางด้านอำนาจการเมืองได้เข้ามาแก้ไข เปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือบทบัญญัติของกฎหมายโดยตรง ขณะที่ในบางด้าน อาจเป็นอิทธิพลหรือแรงกดดันที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายบิดเบี้ยวไปจากมาตรฐานที่ควรจะเป็น

มิติสองด้านที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากอำนาจการเมือง คือ พื้นที่และพลเมือง มีการใช้อำนาจเพื่อจัดการ /ปรับเปลี่ยน /ควบคุม เกิดขึ้นในแง่มุมที่สะท้อนให้เห็นความเข้าใจของผู้มีอำนาจทางการเมืองต่อมิติสองด้านนี้อย่างมาก บทความวิชาการในวารสารฉบับนี้พยายามทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่าอำนาจทางการเมืองที่กระทบต่อระบบกฎหมายไม่ได้จำกัดไว้เพียงในห้วงเวลาที่มีความผันผวนเท่านั้น ในสภาวะที่ดูราวกับเป็นปกติสุข อำนาจทางการเมืองก็ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง ชีวิตของผู้คนในพื้นที่ภายใต้การกำกับของอำนาจทางการเมืองจะสามารถบ่งบอกถึงความหมายที่พยายามจะสถาปนาขึ้น

การทำความเข้าใจกับอำนาจทางการเมืองและระบบกฎหมายจึงมีความสำคัญไม่น้อย วารสารนิติสังคมศาสตร์ (ในชื่อเดิม) หรือ CMU Journal of Law and Social Sciences ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับ “รัฐประหาร พื้นที่ พลเมือง” นำเสนอบทความวิชาการเพื่อทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงที่สืบเนื่องกับอำนาจทางการเมืองนับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ด้วยความหวังว่าจะทำให้มองเห็นและตระหนักถึงความยุ่งยากที่เกิดขึ้นและสืบเนื่องต่อมา แม้ในห้วงเวลาที่ดูราวกับว่าอำนาจรัฐประหารได้สลายตัวไปแล้วก็ตาม

บรรณาธิการ

เผยแพร่แล้ว: 2019-12-28