วารสารธรรมธาราฉบับที่ 12 นี้ มีเนื้อหาทั้งบทวิจัยเชิงคัมภีร์และธรรมะประยุกต์ เพื่อตอบสนองต่อท่านผู้อ่านหลากหลายกลุ่ม แต่โบราณ ไทยถือว่าอักษรขอมเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ คัมภีร์ใบลานบาลีของไทยทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา จึงล้วนจารึกด้วยอักษรขอม จึงน่าสนใจว่า คัมภีร์ใบลานบาลีอักษรขอมของไทยและของกัมพูชา มีที่มาจากสายจารีตเดียวกัน หรือต่างสายจารีตกัน ท่านจะพบคำตอบนี้ได้จากบทความเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบพระไตรปิฎกใบลานอักษรขอม คัมภีร์มัชฌิมนิกายที่พบในประเทศไทยและกัมพูชา” ของ ดร. สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล
     คัมภีร์คู่ขนาน คือ คัมภีร์ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่ในภาษาต่างๆ การศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์คู่ขนาน เป็นการวิจัยเชิงคัมภีร์ระดับสูง ซึ่งยังมีน้อยมากในประเทศไทย เพราะผู้วิจัยต้องมีทักษะความรู้ความสามารถในการอ่านภาษาคัมภีร์หลายภาษา อาทิ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาจีน ภาษาทิเบต และมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และพัฒนาการของคัมภีร์นั้นๆ แต่ก็มีประโยชน์มาก เพราะจะทำให้เราเห็นถึงร่องรอยพัฒนาการของเนื้อหาในคัมภีร์นั้นๆ และทำให้เกิดประเด็นในการขบคิดวิจัยอย่างกว้างขวางจากจุดที่แตกต่างกันของคัมภีร์คู่ขนานนั้นๆ "     
     บทความเรื่อง “เอรกปัตตนาคราช (2): ศึกษาคาถาที่สอดคล้องกันในคัมภีร์ต่างฉบับและวิเคราะห์ภาพสลักหินที่ภารหุต” ของ ชาคริต แหลมม่วง เป็นตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์คู่ขนานที่ดีมาก เพราะเจ้าตัวมีความแตกฉานภาษาบาลี สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค และมีความรู้บาลีไวยากรณ์ใหญ่ โดยจบจากสถาบันบาลีพุทธโฆส ศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งกว่า 10 ปี จนจบปริญญาโท และกำลังจะจบปริญญาเอก จึงมีความแตกฉานทั้งภาษาจีน ภาษาทิเบต และภาษาสันสกฤต รวมทั้งเป็นผู้ที่มีทักษะการวิจัยที่ดี ทำให้ผลงานการวิจัยได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งหลายครั้ง ผู้อ่านจะได้แง่คิดมุมมองใหม่ๆ ในการวิจัยพุทธศาสตร์เชิงคัมภีร์อย่างกว้างขวาง
     บทความเรื่อง “พระพุทธศาสนามหายาน: เหตุใดคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงมีความหลากหลาย (3)” ซึ่ง พระมหา ดร.พงศ์ศักดิ์
ฐานิโย ได้แปลมาจากบทความของ ศาสตราจารย์ ดร. ซาซากิ ชิซุกะ ผู้เชี่ยวชาญพระพุทธศาสนาเถรวาท และเป็นผู้มีความรู้อย่างกว้างขวางในพระพุทธศาสนามหายานด้วย เป็นบทสนทนาถาม-ตอบ กับผู้เข้าศึกษาเรื่องนี้จากวรรณกรรมชื่อดัง ใน 100 นาที ของสถานีโทรทัศน์ NHK ของประเทศญี่ปุ่นทำให้เราเข้าใจแนวคิดของมหายานยุคต้นได้ดีขึ้นจากแนวคิดในคัมภีร์กลุ่ม “ปรัชญาปารมิตาสูตร” ซึ่งถือเป็นกลุ่มคัมภีร์มหายานกลุ่มแรกสุด
     บทความเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์เรื่องปฏิสนธิวิญญาณในพระพุทธศาสนาเถรวาท” ของ ชินวัชร นิลเนตร ได้วิเคราะห์ปฏิสนธิวิญญาณและความสัมพันธ์กับปฏิจจสมุปบาทแบบข้ามภพข้ามชาติ ทำให้เข้าใจกฎปฏิจจสมุปบาทได้ดีขึ้น
     บทความเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์ความกตัญญูกตเวทีในพระพุทธศาสนาเถรวาท” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อำนาจ สงวนกลาง ได้ศึกษาความหมาย หลักการ และความสำคัญของความกตัญญูกตเวที เป็นบทความที่อ่านง่าย และได้ความเข้าใจเรื่องความกตัญญูซึ่งเป็นคุณธรรมพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของสังคมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
     การโค้ชชีวิต (Life coach) เป็นแนวโน้มใหม่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลกบทความเรื่อง “การโค้ชชีวิต: มุมมองของจิตบำบัดและการให้คำปรึกษาเชิงพุทธ” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สานุ มหัทธนาดุลย์ ได้นำหลักการในพระพุทธศาสนามาวิเคราะห์ใช้ประกอบในการโค้ชชีวิต เป็นตัวอย่างการศึกษาคำสอนพุทธเชิงประยุกต์ที่ดีหวังว่า ท่านผู้อ่านทุกท่านจะได้ประโยชน์จากบทความในวารสารฉบับนี้เช่นเคย

 

พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
(สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
1 มกราคม 2564
วันขึ้นปีใหม่

เผยแพร่แล้ว: 2021-01-28