วารสารอิเล็กทรอนิกส์การเรียนรู้ทางไกลเชิงนวัตกรรม (e-JODIL) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้รับความสนใจจากนักวิจัยและนักวิชาการจำนวนมาก เนื่องจากเป็นวารสารคุณภาพที่เผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการเป็นปีที่ 11 ฉบับที่ 2 แล้ว และได้รับการรับรองคุณภาพมาอย่างต่อเนื่องจากศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ให้เป็นวารสารกลุ่มที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2567 กองบรรณาธิการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสถาบันมาร่วมเป็นทีมงานที่ช่วยคัดกรอง คัดสรรบทความที่มีคุณภาพเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคม นโยบายในการบริหารจัดการวารสารยังคงเน้นกระบวนการประเมินคุณภาพบทความที่เข้มข้น จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณวุฒิ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญตรงตามเนื้อหาในบทความ เพื่อช่วยเติมเต็มให้บทความมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการเขียนอ้างอิงทางวิชาการที่ถูกต้องตามมาตรฐาน
บทความในวารสารฉบับนี้จำนวน 15 บทความครอบคลุมตามวัตถุประสงค์ของการจัดทำวารสารวิชาการที่ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์โดยมีบทความพิเศษที่ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.พรชัย ชุนหจินดา ให้ความกรุณาเขียนบทความเรื่อง พัฒนาการของตลาดทุนที่ยั่งยืน ให้แก่วารสารฯ และบทความวิชาการจำนวน 2 เรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล: กรอบสู่ SDGs และแนวคิดการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนออนไลน์ด้วยเกมมิฟิเคชัน และบทความวิจัยจำนวน 12 เรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารทั้งทางการเมืองและสังคม ได้แก่ การสื่อสารระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนผ่านประกาศพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การระบุถึงคนพิการในกฎหมายการสื่อสารของประเทศไทย การสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในการเมืองไทย การวางกรอบข่าวเด็กของหนังสือพิมพ์ไทยและการวิเคราะห์ประเด็นจริยธรรมและสิทธิเด็ก ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางชีวสังคมกับการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการเกษตร ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีชุมชนเพื่อคนทั้งมวลของชุมชนตำบลถ้ำสิงห์ในจังหวัดชุมพร การจัดการการผลิตยางพาราของเกษตรกร และเรื่องที่เกี่ยวข้องการศึกษาและวัฒนธรรมได้แก่ วิธีการแสดงลิเกคณะ “ศรราม น้ำเพชร” ปัจจัยสาเหตุและผลของการจัดการความคิดสร้างสรรค์ทรัพยากรมนุษย์: หลักฐานเชิงประจักษ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย การพัฒนาความสามารถด้านการอ่านและการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคสแกฟโฟลดิงร่วมกับสื่อออนไลน์ การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบ TSOI กับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น และเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารและวิศวกรรมเช่นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการก่อสร้างอาคารสูงในทัศนะของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาทุกคนต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ทำให้นักวิชาการต้องทำงานจากที่บ้าน (Work from home) และทำงานผ่านระบบการสื่อสารออนไลน์ แต่การสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการยังคงทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนา การแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจผ่านกระบวนการวิจัย ขอขอบคุณกองบรรณาธิการวารสารและทีมงานสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็งและยึดมั่นในคุณภาพทุกขั้นตอนของจัดทำวารสารนี้ในสถานการณ์ที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์สูงสุด และขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่านที่สนับสนุนการผลิตและเผยแพร่ผลงานทางวิชาการและมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ความรู้ในวารสารอิเล็กทรอนิกส์การเรียนรู้ทางไกลเชิงนวัตกรรม (e-JODIL) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
รองศาสตราจารย์ ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน
บรรณาธิการ
เผยแพร่แล้ว: 27-12-2021